หลายคนอาจมองว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเพียงสวัสดิการทั่วไปที่บริษัทจัดให้ แต่ความจริงแล้ว กองทุนนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวขึ้น และอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน การมีเงินออมที่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้นกว่าเดิม
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสวัสดิการและหลักประกันให้แก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน ไม่ว่าจะด้วยการเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นไปตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยเงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่
- เงินสะสม ส่วนที่หักจากเงินเดือนพนักงาน (2-15% ของเงินเดือน)
- ผลประโยชน์ของเงินสะสม ผลประโยชน์จากการลงทุนของเงินสะสมในส่วนของสมาชิก
- เงินสมทบ ส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบให้
- ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ผลประโยชน์จากการลงทุนของเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง
ทำไมพนักงานควรให้ความสำคัญกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สาเหตุที่พนักงานควรให้ความสำคัญกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้แก่
- ได้เงินออมสองต่อ
- ต่อที่ 1 คือ เงินสะสมจากตัวเอง
- ต่อที่ 2 คือ เงินสมทบจากนายจ้าง ซึ่งถือเป็น "เงินเดือนแฝง" ที่ได้รับเพิ่มเติม
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี
- เงินสะสมของตัวเองนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกลุ่มเงินออมเพื่อการเกษียณ
- เงินที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุได้รับยกเว้นภาษี
- การลงทุนแบบมืออาชีพ
- มีผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการกองทุน เพื่อให้เงินงอกเงย
- มีนโยบายการลงทุนให้เลือกตามความเหมาะสม
- ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์
- ได้รับความคุ้มครองจากการเป็นกองทุนที่แยกออกจากทรัพย์สินของบริษัท บริษัทหรือเจ้าหนี้บริษัทไม่สามารถนำออกไปได้
- มีสิทธิได้รับเงินก่อนกำหนดในกรณีพิเศษ เช่น ทุพพลภาพ เสียชีวิต
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
Q1: หากลาออกจากงาน จะได้รับเงินจากกองทุนอย่างไร?
A: สิทธิในการรับเงินขึ้นอยู่กับอายุงาน
- เงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ได้รับเต็มจำนวนเสมอ
- เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ได้รับตามเงื่อนไขอายุงานที่บริษัทกำหนด
Q2: สามารถโอนย้ายเงินกองทุนไปที่ใหม่ได้หรือไม่?
A: สามารถโอนย้ายเงินกองทุนไปยังกองทุนของนายจ้างใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอีกหลายทาง ได้แก่
- คงเงินไว้ในกองทุนเดิม
- โอนไปกองทุน RMF for PVD
- รับเงินก้อน โดยมีภาระภาษีตามเงื่อนไข
Q3: หากบริษัทล้มละลาย เงินในกองทุนจะเป็นอย่างไร?
A: เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแยกออกจากทรัพย์สินของบริษัท จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของนายจ้าง
เปรียบเทียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับการออมรูปแบบอื่น
ตัวอย่างกองทุน RMF ที่รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD)
สำหรับคนที่เปลี่ยนงานหรือลาออกจากงาน โดยที่ยังไม่ต้องการนำเงินออกมา ทางเลือกหนึ่งคือการย้ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากบริษัทเดิมไปลงทุนต่อในกองทุน RMF for PVD โดยมีกองทุนแนะนำดังนี้
- กองทุน KWPBALRMF*
ลงทุนในหุ้น 15-45% และลงทุนในตราสารหนี้ 55-85%
เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตมากขึ้นจากการลงทุนในหุ้นบางส่วน
- กองทุน KWPSPEEDRMF*
เน้นลงทุนในหุ้น 50-80% และลงทุนในตราสารหนี้ 20-50%
เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ไม่อยากให้พอร์ตเหวี่ยงเกินไป
- กองทุน KWPULTIRMF*
เน้นลงทุนในหุ้น 70-100% และลงทุนในตราสารหนี้ 0-30%
เหมาะกับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้สูง เพื่อโอกาสทำกำไรให้พอร์ตเติบโต
คำแนะนำในการใช้ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่อยากให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ให้มากที่สุด มีคำแนะนำดังนี้
- เริ่มต้นเร็ว ช่วยให้มีเงินสะสมมาก ยิ่งเริ่มออมเร็ว ยิ่งได้ประโยชน์จากผลตอบแทนทบต้น ทำให้เงินเติบโต
- ใส่ใจการเลือกนโยบาย เลือกนโยบายการลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่รับได้และปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงชีวิต
- ติดตามผลการดำเนินงาน ตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนปีละ 1-2 ครั้ง
- วางแผนภาษี ส่งเงินสะสมให้ได้มากที่สุดตามความสามารถในการออมเพื่อใช้ประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนภาษี และมีเงินออมมากยิ่งขึ้น
- มองภาพรวมระยะยาว ใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ
การเริ่มต้นวางแผนและจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างรอบคอบตั้งแต่วันนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการไปสู่อิสรภาพทางการเงินในวัยเกษียณอายุ เพราะยิ่งออมมาก ก็ยิ่งมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณมากนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : • บลจ.กสิกรไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)