เศรษฐกิจจีนยังซบเซา หลังมาตรการกระตุ้นไม่ได้ผล กดดันตลาดหุ้นจีนร่วงต่อ
รายงานยอดขายปลีกของจีนในเดือนพฤศจิกายนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 3 เดือน รวมถึงต่ำกว่าเดือนตุลาคมที่เติบโต 4.8% อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายเงินน้อยลงและการกระตุ้นช่วงก่อนหน้านี้ไม่ได้ผล
ขณะที่รัฐบาลจีนยังคงให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัญญาว่าจะ "ยกระดับการบริโภคอย่างแข็งขัน" และขับเคลื่อนความต้องการภายในประเทศ "ในทุกด้าน"
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของแผนการต่างๆ ยังคงขาดความชัดเจนและยังดูมีความไม่แน่นอนทั้งในด้านของกรอบเป้าหมาย และแนวทางการใช้นโยบายต่างๆ ซึ่งนักวิเคราะห์บางสำนักมองว่า แม้ว่าบรรยากาศของการประชุมจะมีท่าทีสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและพร้อมจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมแต่ก็ยังขาดรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับนโยบาย
สำหรับวิกฤติอสังหาฯยังเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับจีน โดยราคาบ้านใหม่ใน 70 เมือง ยังมีแนวโน้มลดลงในเดือนพฤศจิกายน ราคาบ้านใหม่ลดลง 6.1% ส่วนราคาบ้านมือสองลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซายังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงตามไปด้วย ตลาดหุ้นจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาผลตอบแทนต่างปรับตัวลงนำโดยหุ้นใหญ่ อย่าง Meituan (-8.0%) , Alibaba (-4.63%) , Tencent (-2.85%) ตามการบริโภคที่ลดลง
สรุปได้ว่าตลาดกังวลว่าหากทางการจีนยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด ไม่เพียงแต่จีนจะเผชิญปัญหาเรื้อรังภายในประเทศแล้ว แต่ยังอาจทำให้จีนรับมือกับมาตรการภาษีนำเข้าจากนโยบายของนาย Donald Trump ได้ยากลำบากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ดัชนีที่เกี่ยวข้อง (ผลตอบแทน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 - 16 ธ.ค. 67)
• Shanghai Composite -2.2%
• SZSE Component -2.69
• Hang Seng -3.68%
กองทุนที่เกี่ยวข้อง (ผลตอบแทน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 - 16 ธ.ค. 67)
• K-CHINA , K-CHINA-SSF , KCHINARMF -7.1% (ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก ความเคลื่อนไหวจึงต่างจากดัชนี้อ้างอิง โดยกองทุนมีการปรับตัวลงแรงจากหุ้น Meituan (-8.0%) , Alibaba (-4.63%) , Tencent (-2.85%) ที่มีสัดส่วนลงทุนใน 5 อันดับแรกของกองทุน)
• K-CCTV -1.85%
• K-CHX -4.08%
มุมมองการลงทุน
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มโดนกดดันอย่างต่อเนื่อง จากความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวของการค้าโลกที่เป็นผลมาจากนโยบายการกีดกั้นทางการค้าของนาย Donald trump
แต่อย่างไรก็ตาม ทางการจีนมีแนวโน้มใช้มาตราการกระตุ้นทั้งการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ล่าสุดเช้านี้มีรายงานว่า รัฐบาลจีนเพิ่มขาดดุลงบประมาณปี 68 มาเป็น 4% จากเดิมที่ 1% เพื่ออัดเม็ดเงินเข้าระบบ ตลาดหุ้นจีนต่างตอบรับปรับตัวขึ้น
ทาง K WEALTH ยังมีมุมมองเป็นกลางโดยตลาดหุ้นจีนน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจาก Valuation ที่น่าสนใจรวมถึงมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน
คำแนะนำการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน
o ผู้ที่ลงทุนกองทุนจีน ได้แก่ K-CCTV , K-CHX ,K-CHINA สามารถถือลงทุนต่อได้ หรือหากมีกำไรแนะนำขายทำกำไรบางส่วนโดยมีสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
o สำหรับผู้ที่ยังไม่มีกองทุนจีน แนะนำรอประเมินสถานการณ์ และพิจารณาการลงทุนในกองทุนอื่นที่แนะนำ เช่น K-VIETNAM, K-WEALTHPLUS FUND, K-GHEALTH เป็นต้น
ตลาดหุ้นไทยหลุด 1,400 จุดจากแรงขายหุ้นใหญ่
แรงกดดันหลักมาจากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ CPALL และ CPAXT ที่มีวอลุ่มหนาแน่น ส่งผลกดดันต่อดัชนีอย่างมาก
ประเด็นราคาหุ้น บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) และ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ปรับตัวลงต่อเนื่องจากวานนี้นั้นมาจากการที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เตรียมนัดสมาชิกประชุมสัปดาห์หน้าเพื่อหารือเรื่องการลงทุนในหุ้น CPAXT และ CPALL หลังจากมีมติเข้าร่วมทุนกว่าเบื้องต้น 8 พันล้านบาทในโครงการ The Happitat ซึ่งเป็นของบริษัทในเครือซีพี โดยจะพิจารณาหลักธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance: CG) เนื่องจากเข้าข่ายการทำรายการกับบุคคลเกี่ยวโยง
ทั้งนี้ กองทุนที่ยึดหลักการลงทุนอิง ESG และ CG โดยเฉพาะกองทุน ThaiESG อาจถูกบังคับขายหุ้นที่มีปัญหาด้าน CG ออกมา แม้จะเป็นแค่เหตุสงสัยก็คงต้องขายออกมาก่อน เพราะการทำรายการของ CPAXT ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลมาก่อน ไม่มีการตั้งที่ปรึกษาประเมินความเหมาะสมการลงทุน จึงอาจถูกมองวาไม่โปร่งใส และยังพบว่านักลงทุนสถาบันขายหุ้น CPALL ออกมาแล้วกว่า 2 พันล้านบาทเมื่อวานนี้ เพราะ CPALL ถือหุ้นใหญ่ใน CPAXT
นักลงทุนยังมองว่าการที่ CPAXT ลงทุนโครงการ The Happitat จะกดดันกำไรปี 68 และอาจถึงปี 69 เพราะมีดอกเบี้ยเงินกู้ที่ใช้ลงทุน ซึ่งจะกระทบกับราคาเป้าหมายเพียง 0.20-0.30 บาท แต่ราคาหุ้นปรับตัวลงเกือบ 20% จากความกังวลปัญหา CG
ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตามค่าเงินภูมิภาคเอเชีย เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายต่อเนื่อง และนักลงทุนส่วนหนึ่งเลือกขายลดความเสี่ยงก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐที่ใกล้เข้ามา ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีหน้า
ดัชนีที่เกี่ยวข้อง (ผลตอบแทน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 - 16 ธ.ค. 67)
• SET -3.96%
กองทุนที่เกี่ยวข้อง (ผลตอบแทน 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 - 16 ธ.ค. 67) (ข้อมูลสัดสวนการลงทุน ณ 29 พ.ย. 67)
• KFLRMF -4.58% มีสัดส่วนลงทุนใน CPALL 7.86% ของพอร์ตกองทุน
• K-FEQ -4.56% มีสัดส่วนลงทุนใน CPALL 7.66% ของพอร์ตกองทุน
• K-SUPSTAR-SSFX -4.44% มีสัดส่วนลงทุนใน CPALL 7.04% ของพอร์ตกองทุน
มุมมองการลงทุน
ปัจจัยหุ้น CPALL เป็นเหตุผลเฉพาะตัว เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าปีนี้จากการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการบริโภค
แต่อย่างไรก็ตามไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้ศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออกด้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะจำกัดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในระยะข้างหน้า
K WEALTH ยังมีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นไทย โดยระดับมูลค่า (อัตราส่วน P/E) เพิ่มขึ้นมามากแตะระดับค่าเฉลี่ย 10 ปี อาจสะท้อนการรับข่าวปัจจัยบวกไปแล้ว และรอติดตามปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นในปีหน้าที่อาจหนุนให้ดัชนี SET มี Upside เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
คำแนะนำการลงทุนในกองทุนหุ้นไทย/กองทุนผสมหุ้นไทย
o ผู้ที่ลงทุนกองทุนไทย/กองทุนผสมหุ้นไทย ได้แก่ K-STAR ,K-FEQ , K-SUPSTAR-SSFX , KFLRMF เป็นต้น สามารถถือลงทุนต่อได้ หรือหากมีกำไรแนะนำขายทำกำไรบางส่วนโดยมีสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
o สำหรับผู้ที่ยังไม่มีกองทุนหุ้นไทย แนะนำรอประเมินสถานการณ์ และพิจารณาการลงทุนในกองทุนอื่นที่แนะนำ เช่น K-VIETNAM, K-WEALTHPLUS FUND, K-GHEALTH เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก CNN , Bloomberg , หลักทรัพย์กสิกร และ สำนักข่าวอินโฟเควสท์