คู่มือการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ เจาะลึกประเภทกองทุน ผลตอบแทน ความเสี่ยง เทียบข้อดี-ข้อเสีย วิธีเลือกกองทุนที่ช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า พร้อมกองทุนแนะนำ

กองทุนตราสารหนี้คืออะไร? เสี่ยงน้อยจริงหรอ

คู่มือการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ เจาะลึกประเภทกองทุน ผลตอบแทน ความเสี่ยง เทียบข้อดี-ข้อเสีย วิธีเลือกกองทุนที่ช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า พร้อมกองทุนแนะนำ

กดฟัง
หยุด
  • กองทุนตราสารหนี้เป็นทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก โดยสร้างผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับและส่วนต่างของราคาตราสารที่กองทุนนำเงินไปลงทุน ในภาวะดอกเบี้ยขาลงในปี 2568 นี้ กองทุนตราสารหนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีจากราคาตราสารหนี้ที่สูงขึ้น
  • การเลือกกองทุนตราสารหนี้ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยนักลงทุนมือใหม่ควรเริ่มจากกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นคุณภาพสูง ขณะที่นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงอาจพิจารณากองทุนตราสารหนี้ที่มีการกระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
  • ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย คุณภาพของตราสารหนี้ และอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ต โดยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับพอร์ตให้เหมาะสม

ในช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดการเงินมีความผันผวน กองทุนตราสารหนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่นักลงทุนหลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น แต่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงิน K WEALTH มีคำแนะนำเกี่ยวกับกองทุนตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจและเหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงิน


กองทุนตราสารหนี้ คืออะไร

กองทุนตราสารหนี้ คือ กองทุนรวมที่นำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เป็นต้น โดยกองทุนตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนหลักๆ จาก 2 แหล่ง คือ ดอกเบี้ยรับจากตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุน และกำไรจากส่วนต่างของราคาเมื่อราคาตราสารหนี้ในตลาดเปลี่ยนแปลง โดยราคาตราสารหนี้มักเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด


ประเภทของกองทุนตราสารหนี้

กองทุนตราสารหนี้สามารถแบ่งได้หลายแบบตามลักษณะต่างๆ ดังนี้


  • แบ่งตามผู้ออกตราสาร กองทุนตราสารหนี้ภาครัฐลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนกองทุนตราสารหนี้ภาคเอกชนลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า นอกจากนี้ ยังมีกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนทั้งในตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน เพื่อกระจายความเสี่ยง
  • แบ่งตามระยะเวลาการลงทุน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีอายุเฉลี่ยของตราสารไม่เกิน 1 ปี มีความผันผวนต่ำ ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวมีอายุเฉลี่ยของตราสารมากกว่า 1 ปีขึ้นไป มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่มีความผันผวนมากกว่า
  • แบ่งตามภูมิภาคที่ลงทุน กองทุนตราสารหนี้ในประเทศลงทุนในตราสารหนี้ไทย ส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

เปรียบเทียบกับการลงทุนแบบอื่น

กองทุนตราสารหนี้ vs เงินฝาก กองทุนตราสารหนี้มักให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคาร แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะราคาหน่วยลงทุนสามารถขึ้นลงได้ ส่วนในด้านสภาพคล่อง เงินฝากประจำมีข้อจำกัดที่ต้องไปถอนที่สาขาธนาคาร ขณะที่กองทุนตราสารหนี้สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการผ่าน Mobile Banking ธนาคาร รอ 1-2 วันทำการก็ได้เงิน โดยไม่ต้องไปทำรายการที่สาขาธนาคาร


กองทุนตราสารหนี้ vs กองทุนหุ้น กองทุนหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว แต่กองทุนตราสารหนี้มีความผันผวนน้อยกว่าและความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนหุ้น ทำให้กองทุนตราสารหนี้เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือต้องการลงทุนระยะสั้นถึงปานกลาง


วิธีเลือกกองทุนตราสารหนี้ที่เหมาะกับคุณ

การเลือกกองทุนตราสารหนี้ที่เหมาะกับตัวเองควรพิจารณาปัจจัยสำคัญ ดังนี้


ผลตอบแทน ควรดูประวัติผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี และเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ว่ากองทุนสามารถทำผลงานได้ดีกว่าหรือไม่


ความเสี่ยง ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเครดิตคือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารอาจผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ควรพิจารณาค่า Standard Deviation (SD) ด้วย โดยยิ่งมีค่าสูง จะยิ่งมีความผันผวนมาก


ระยะเวลาลงทุน หากลงทุนระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี เหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนระยะกลาง 1-3 ปี เหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง และระยะยาว 3 ปีขึ้นไป เหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวหรือกองทุนผสม


ค่าธรรมเนียม ควรพิจารณาค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) และค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Front-end Fee, Back-end Fee) เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่สูงจะกระทบกับผลตอบแทนโดยรวม


กองทุนตราสารหนี้เหมาะกับใคร

นักลงทุนมือใหม่ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนสม่ำเสมอ เหมาะกับการเรียนรู้การลงทุนก่อนก้าวไปสู่การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น


นักลงทุนระยะกลาง สามารถพิจารณากองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนบางส่วน เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยยังคงรักษาระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้


นักลงทุนระยะยาว อาจพิจารณากองทุนตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ต้องยอมรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้


รูปแบบผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้

กำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย เกิดจากการที่ราคาตราสารหนี้ในพอร์ตของกองทุนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยปกติจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด


เงินปันผล (ถ้ามี) บางกองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วย ซึ่งจะมาจากดอกเบี้ยรับหรือกำไรจากการซื้อขายตราสารหนี้ที่กองทุนนำเงินไปลงทุน


ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลตอบแทน

การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กองทุนได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวลง ทำให้กองทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนต่ำลงหรืออาจขาดทุนได้


คุณภาพของตราสารหนี้ (Credit Quality) ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) สูง เช่น AAA, AA, A จะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า เช่น BBB, BB, B เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA, AA, A มีความเสี่ยงต่ำกว่า


อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ (Duration) ตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารยาวจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมากกว่า ทำให้มีความผันผวนสูงกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารสั้น แต่ก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่นกัน


วิธีลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ – ขั้นตอนเริ่มต้น

  1. ตั้งเป้าหมายการลงทุน
  2. ควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน เช่น เพื่อสร้างรายได้ประจำ หรือเพื่อเพิ่มผลตอบแทน นอกจากนี้ ควรประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ผ่านแบบประเมินความเสี่ยง (Risk Profile) และกำหนดระยะเวลาการลงทุนที่ชัดเจน


  3. ศึกษาและเลือกกองทุนที่เหมาะสม
  4. ศึกษาข้อมูลกองทุน เปรียบเทียบกองทุนประเภทต่างๆ และเลือกกองทุนที่เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ และระยะเวลาในการลงทุน


  5. เปิดบัญชีลงทุน
  6. เลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุน เช่น ธนาคาร จากนั้นกรอกเอกสารเปิดบัญชีและทำแบบประเมินความเสี่ยง พร้อมเตรียมเอกสารประกอบ เช่น บัตรประชาชน สมุดบัญชีธนาคาร โดยปัจจุบันสามารถเปิดบัญชีกองทุนบน Mobile Banking ได้ เช่น K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย


  7. ทำความเข้าใจกองทุนผ่าน Fund Fact Sheet
  8. ศึกษาข้อมูลกองทุนจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ของแต่ละกองทุน พิจารณานโยบายการลงทุนว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของคุณหรือไม่ เปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลังเทียบกับดัชนีชี้วัด พิจารณาความเสี่ยง และค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขการซื้อขายกองทุน


  9. เริ่มต้นลงทุนและติดตามผล
  10. กำหนดจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสม พิจารณาการลงทุนแบบจ่ายเงินก้อนเดียว (Lump Sum) หรือทยอยลงทุนสม่ำเสมอ (DCA) ทุกเดือน พร้อมติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนเมื่อเป้าหมายหรือสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลงไป


ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้


แนวทางการลงทุนกองทุนตราสารหนี้สำหรับนักลงทุนแต่ละกลุ่ม

นักลงทุนมือใหม่

แนวทางการลงทุน นักลงทุนมือใหม่ควรเริ่มต้นด้วยกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำ และเลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก


กองทุนแนะนำโดย K WEALTH

กองทุน K-SF-A กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ นอกจากนี้ ยังลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ


นักลงทุนที่มีประสบการณ์

แนวทางการลงทุน นักลงทุนที่มีประสบการณ์ควรกระจายการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หลายประเภท ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงพิจารณาลงทุนในกองทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนบางส่วน เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงิน


กองทุนแนะนำโดย K WEALTH

กองทุน K-SFPLUS กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ


กองทุน K-FIXED-A กองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเงินฝากในประเทศ


นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูง

แนวทางการลงทุน นักลงทุนกลุ่มนี้ควรพิจารณากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่กระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหลายๆ ภูมิภาคหรือหลายประเภทตราสารหนี้ และสามารถรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น


กองทุนแนะนำโดย K WEALTH

กองทุน K-FIXEDPLUS-A กองทุนตราสารหนี้ที่มีการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น


นักลงทุนวัยเกษียณ

แนวทางการลงทุน นักลงทุนวัยเกษียณควรเน้นกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ รักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยของเงินต้นและการสร้างรายได้ต่อเนื่อง โดยลงทุนในกองทุนที่มีความผันผวนต่ำ


กองทุนแนะนำโดย K WEALTH

กองทุน K-GB-A(D) กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก เน้นตราสารหนี้คุณภาพสูง และกระจายการลงทุนในหลายภูมิภาค โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง


กองทุนตราสารหนี้เป็นทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น แต่ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่ากองทุนตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ อำนาจซื้อที่แท้จริงของเงินลงทุนอาจลดลง


K WEALTH แนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ไม่ควรนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง การจัดสรรสินทรัพย์อย่างเหมาะสมและมีพอร์ตการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้อย่างมั่นคง


หมายเหตุ:
  • ระดับความเสี่ยงกองทุน
    • K-SF-A, K-SFPLUS, K-FIXED-A, K-FIXEDPLUS-A, K-GB-A(D): ความเสี่ยงกองทุนระดับ 4
  • นโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
    • K-SF-A, K-SFPLUS: ป้องกันความเสี่ยง 100%
    • K-FIXEDPLUS-A, K-GB-A(D): ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน
  • ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน (ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+6 หมายถึง จะได้รับเงินค่าขายคืน 6 วันทำการถัดจากวันที่ทำรายการ (T+6) เช่น ขายคืนวันจันทร์ จะได้รับเงินค่าขายคืนวันอังคารของสัปดาห์ถัดไป (กรณีไม่มีวันหยุดอื่น นอกจากเสาร์-อาทิตย์))
    • K-SF-A, K-SFPLUS: T+1
    • K-FIXED-A, K-FIXEDPLUS-A: T+2
    • K-GB-A(D): T+4

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บลจ.กสิกรไทย, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย


คำเตือน

“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ผู้เขียน

K WEALTHสุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

Back to top