สรุป 5 ธีมสำคัญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2025 จากงาน K WEALTH Forum พร้อมกลยุทธ์รับมือความผันผวนจาก AI, ดอกเบี้ย, การเมืองโลก และโอกาสลงทุนที่น่าจับตามอง

5 Theme การลงทุนหลัก จากงาน "K WEALTH Forum 2025"

สรุป 5 ธีมสำคัญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2025 จากงาน K WEALTH Forum พร้อมกลยุทธ์รับมือความผันผวนจาก AI, ดอกเบี้ย, การเมืองโลก และโอกาสลงทุนที่น่าจับตามอง

กดฟัง
หยุด
  • งานสัมมนา “K WEALTH Forum 2025” เน้น 5 ธีมหลักที่มีผลต่อการลงทุน ได้แก่ 1) AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลตอบแทน 2) นโยบาย America First และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก 3) วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงที่ยังคงดำเนินต่อไป 4) หนี้สาธารณะระดับสูงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และ 5) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
  • ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกแค่ชะลอตัวลง ยังไม่เป็นเศรษฐกิจถดถอย จึงไม่อยากให้นักลงทุนกังวลจนเกินไปจนไม่กล้าลงทุน โดยสหรัฐฯ จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม และแนะนำให้นักลงทุนติดตามประเด็นเรื่อง tariffs อย่างใกล้ชิดเพราะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดโลกผันผวน
  • นักลงทุนควรกระจายพอร์ตการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ ทั้งสินทรัพย์เติบโตและสินทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ ด้วยการจัดพอร์ตแบบ Core and Satellite เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการเติบโตที่มาเร็วไปเร็ว และลดความเสี่ยงจากนโยบายการค้าและความผันผวนของตลาดในเวลาเดียวกัน

งาน K WEALTH Forum เป็นงานสัมมนาประจำปีที่ทางธนาคารกสิกรไทยเชิญลูกค้าคนสำคัญมาเข้าร่วมรับฟังมุมมองการลงทุนในปี 2025 กับผู้เชี่ยวชาญของ K WEALTH และตัวแทนพาร์ทเนอร์ระดับโลกจาก Lombard Odier และ JP Morgan Asset Management โดยงานสัมมนาปีนี้มาใน Theme “Five for 2025: Five Themes That Will Shape Global Investment Strategies” K WEALTH ขอสรุปประเด็นสำคัญที่ได้จากงานให้ผู้อ่านทุกท่าน ครบ จบ ในบทความนี้บทความเดียว


Opening Session โดยดร. พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ (ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย)

ดร. พิพัฒน์พงศ์ กล่าวเปิดด้วยการ Recap สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2024 โดยเล่าว่าสหรัฐฯ เป็นผู้นำการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา แม้ว่าช่วงกลางปีตลาดหุ้นโลกจะผันผวนสูงจากเหตุการณ์ Black Monday แต่พอหมดปี หลายสินทรัพย์เช่นตราสารหนี้หรือทองคำ ทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีภายใต้ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย จึงเน้นย้ำความสำคัญของการกระจายการลงทุนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดี


ดร. พิพัฒน์พงศ์ เล่าต่อเนื่องมายังปี 2025 ว่าเป็นปีแห่งความท้าทาย ตลาดหุ้นผันผวนสูง ยกตัวอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยหุ้น Tech ที่เป็นผู้นำในปีที่แล้วเห็นการปรับตัวลงแรงในขณะที่ตลาดหุ้น Hong Kong ปรับตัวขึ้นโดดเด่นจากการมาของ DeepSeek AI เป็นต้น งานสัมมนาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปัน Theme เพื่อหาโอกาสการลงทุนและเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวน โดยแบ่งเป็น 5 Theme หลัก ดังนี้


“Five for 2025” | 5 Themes that will shape global investment strategies

ในช่วงแรกจะเป็นการพูดถึง 5 Theme การลงทุน โดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ดังนี้


  1. คุณ Michael Strobaek จาก Lombard Odier
  2. คุณ Tai Hui จาก JP Morgan Asset Management และ
  3. คุณ Siriporn Suwannagarn จาก K WEALTH CIO ธนาคารกสิกรไทย

โดยก่อนจะเข้าประเด็น 5 Theme พิธีกรได้มีการถามทั้ง 3 ท่านเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 สรุปได้ดังนี้


คุณ Michael Strobaek

ไม่อยากให้นักลงทุนกังวลเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจมากจนเกินไป โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2025 น่าจะไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย ยังคงขยายตัวได้แต่มีแนวโน้มชะลอตัว ในภาพใหญ่ให้ดูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นหลัก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดี คนสหรัฐฯ มีกำลังซื้อ จะทำให้บริษัทในสหรัฐฯ ต้องการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีกับโลกในภาพรวม ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเริ่มเห็นการฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่ค่อยดีนักโดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างเยอรมนี โดยมองว่านโยบายของ Trump กระตุ้นให้ยุโรปมีการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะส่วนของกลาโหม โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน เป็นต้น และสุดท้ายคือมองว่าจีนยังคงมี Balance Sheet Recession บนความซบเซาของภาคอสังหาฯ


คุณ Tai Hui

ให้ความเห็นว่าเรื่อง Tariffs ไม่ใช่เรื่องของภาษี แต่เป็นเรื่องของวิธีการที่ปธน. ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรอง แต่ประเด็นนี้นำมาซึ่งความไม่แน่นอนที่ตลาดและภาคเอกชนไม่ชอบ เพราะความเสี่ยงของการลงทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะในครึ่งแรกของปี 2025 ที่น่าจะยังมีความผันผวนจากสาเหตุนี้อยู่ แต่หากมองภาพยาวทั้งปียังแนะนำให้นักลงทุนทยอยลงทุนได้


คุณ Siriporn

เจาะจงมาที่เศรษฐกิจไทย โดยให้มุมมองว่า GDP ปีนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 2.4% แต่ชวนผู้ฟังสังเกตว่า GDP ของไทยช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% ดังนั้นไทยมีศักยภาพ โดยต้องจับตาดู 4 ปัจจัย


  1. นักท่องเที่ยวที่น่าจะเห็นการฟื้นตัว
  2. ส่งออก ซึ่งปี 2025 น่าจะแผ่วลงบนเรื่องของสงครามการค้า
  3. ค่าเงินบาทที่แนะนำให้นักลงทุนจับตา Q2 ที่อาจเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าที่บริษัทต่างชาติอาจส่งเงินกลับหลังรับปันผล
  4. ดอกเบี้ยนโยบาย มองว่าน่าจะลดได้อีก 0.25% ในช่วงที่เหลือของปี 2025

ส่วนปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย


  1. นักท่องเที่ยว ปัจจัยนี้แนะให้จับตามองจีนที่นักท่องเที่ยวหายไปเยอะบนความกังวลด้านความปลอดภัย
  2. การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ที่ใช้งบไม่มาก เช่น e-Receipt เกิดขึ้นได้อีก และ
  3. การลงทุน เชื่อว่าภาครัฐ จะสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยประกอบด้วย


  1. ผลจากสงครามการค้า
  2. ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลำบากขึ้น เพราะสินค้าที่ผลิตภัณฑ์ในไทยไม่ตอบโจทย์อุปสงค์โลก
  3. หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90%

Theme ที่ 1: AI will transform global economy and drive investment return

คุณ Michael Strobaek

ฉายภาพให้เห็นว่าเงินลงทุนที่ผู้พัฒนา AI ใส่ลงไปเริ่มผลิดอกออกผลแล้วในปัจจุบัน หลังจาก Adoption rate และความต้องการในการจ่ายเงินเพื่อใช้งาน AI มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนไปจากเดิมที่เปิดให้ใช้ฟรี ผู้บริโภคจ่ายเป็นข้อมูลที่ใส่เข้าไปให้ AI ประมวลผล และมีการพูดถึง AI ในภาพรวมว่ามีทั้งข้อดี คือเพิ่ม productivity ให้กับการทำงานแต่ก็ส่งผลเชิงลบต่อการจ้างงานในบางกลุ่มที่เนื้องาน AI สามารถเข้ามาแทนได้ แต่มองว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการผสมผสานระหว่างคนและ AI สุดท้ายฝากเรื่องโอกาสการลงทุนใน AI ที่ยังเปิดกว้างในหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน หรือแม้แต่วงการทหารในแง่ของการวางระบบ ที่เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจในปัจจุบัน


คุณ Tai Hui

ให้ 3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับ AI ประกอบด้วย


  1. ไม่ใช่คนพัฒนา AI ทุกคนจะประสบความสำเร็จ
  2. บริษัท startup พัฒนา AI ไม่ใช่อยู่ดีๆ นึกอยากพัฒนา AI แล้วจะทำได้ในเวลาอันสั้น โดยปกติใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะเป็นที่รู้จักในวงการ ดังนั้นนักลงทุนต้องศึกษาให้เข้าใจในบริษัทนั้นๆ อย่างแท้จริงก่อนตัดสินใจลงทุน แนะนำให้ลองศึกษาว่ามีบริษัทไหนที่นำ AI มาใช้แล้วพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ เป็นอีกทางเลือกการลงทุน
  3. ข้อควรระวังคือเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ Hardware พัฒนาไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่น Netflix ถ้ามาในยุคที่ยังไม่มี 5G อาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ก็ได้

Theme ที่ 2: American First Policy doesn’t mean America alone

คุณ Michael Strobaek

เริ่มท้าวความด้วยการพูดถึงเรื่องที่ Trump เลือกตั้งสำเร็จก่อนว่าเกิดจาก 3 ปัจจัย 1) ปัญหาผู้อพยพ 2) สัญญาว่าจะทำให้ปัญหาความยากจน หรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนสหรัฐฯ ดีขึ้น และ 3) ฉายภาพให้เห็นว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นเหยื่อประเทศอื่นบนการขาดดุลการค้า และถึงเวลาต้องเอาคืน ซึ่งพอ Trump เข้ามาแล้ว นโยบายในภาพรวมที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ดีต่อคนสหรัฐฯ แต่เป็นต้นทุนที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต้องจ่าย อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ สามารถควบคุมการขาดดุลงบประมาณได้โดยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และเอาเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือ IT ก็อาจมองเป็นปัจจัยบวกได้เช่นกัน


สำหรับนักลงทุน คุณ Michael แบ่งคำแนะนำ/ข้อสังเกตออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้


  1. นักลงทุนควรกระจายการลงทุนออกจากประเทศที่มีความเสี่ยงจะโดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงขึ้น
  2. อย่าเพิ่งเดาไปเอง แนะนำให้รอดูผลกระทบจากนโยบายภาษีก่อน
  3. หากสนใจลงทุนในยุโรป คงเห็นการใช้เงินมากขึ้นเพราะ สหรัฐฯ ลดการสนับสนุนลงจึงต้องดูแลตัวเองมากขึ้น

คุณ Tai Hui

เปรียบเทียบแบบเห็นภาพว่า Tariffs เหมือนเป็นค้อน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เหมือนเป็นตะปู สหรัฐฯ ในฐานะคนถือค้อนก็จะตีตะปูไปทั่ว แต่อย่างไรก็ดี คุณ Tai Hui มองว่านโยบายนี้ไม่ได้เป็น surprise สำหรับบริษัทในจีน เพราะเห็นการเตรียมพร้อมตัวเองซักพักแล้ว เช่น บริษัทส่งออกมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และ เม็กซิโก หรือการส่งออกชิ้นส่วนต่างๆ ที่บริษัทเทคฯ จีนเคยโดนผลกระทบรอบแรกไป รอบนี้ก็ปรับตัวโดยพัฒนาขึ้นมาเอง และเอา AI ที่พัฒนาเองเข้ามาใช้ในธุรกิจ ลดการพึ่งพานวัตกรรมจากประเทศอื่น


คุณ Siriporn – ผลกระทบของ America First ต่อประเทศไทย

คุณ Siriporn ให้ข้อมูลว่าไทยไม่ใช่เป้าหมายแรกๆ ของการโดนสหรัฐฯ เพ่งเล็ง เพราะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 11 อย่างไรก็ตาม คุณ Siriporn มองว่าไทยก็ต้องรับมือกับนโยบายภาษี ง่ายที่สุดคือนำเข้าสินค้าเช่น พลังงานหรือสินค้าเกษตร จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลลง สุดท้ายคือประเทศที่โดนผลกระทบจาก trade tariffs อาจจะส่งผลกระทบชิ่งมาไทยได้ เช่น สินค้าจีนที่มีการส่งออกมาขายในไทยมากขึ้น เป็นต้น


Theme ที่ 3: Global rate-cutting cycle has further to go

คุณ Tai Hui

ให้มุมมองอิงจากท่าทีของ Fed ซึ่งมองเงินเฟ้อยังสูงอยู่บนความไม่แน่นอนด้านสงครามการค้า ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องมาที่เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง จึงทำให้ Fed น่าจะลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปี 2025 ตามตลาดคาดหวัง ด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อยืนสูงแบบนี้ คุณ Tai Hui เชื่อว่า Fed จะเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า เพราะไม่สามารถไปควบคุมด้านภาษีได้


มองออกไประยะ 6-9 เดือนข้างหน้า Fed คงคาดการณ์ทุกอย่างได้ลำบาก เพราะหากว่าขึ้นภาษีจริง และหลายประเทศตอบโต้กันไปมาจนเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงจนเกินความควบคุมของ Fed เพราะไม่สามารถแก้ไข Cost-push inflation ได้เอง ด้วยความไม่แน่นอนนี้จึงแนะนำให้นักลงทุนมีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลง


คุณ Siriporn – มองอย่างไรต่อแนวโน้มดอกเบี้ยไทย

มองเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลงอยู่ การที่ธปท. ทำ surprise ลดดอกเบี้ยรอบก่อน ถือว่าสอดคล้องกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ โดยมองว่าดอกเบี้ยที่ 2% อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ถ้ามองยาวๆ ดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะอยูที่ระดับ 1.75% ดังนั้นธปท. ยังมีกระสุนอยู่ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีหรืออ่อนแอมากกว่าคาดอาจจะเห็นลดดอกเบี้ยได้อีก 0.25%


คุณ Siriporn ให้มุมมองที่น่าสนใจบนคำถามว่า Fed ดอกเบี้ยสูง ของเราต่ำ อย่างนั้นฝากเงินที่ US ดีกว่าไหม โดยถ้ามีเงินเป็น USD การทำแบบนี้ดี แต่ถ้าต้องแลกเงินไปฝาก ไม่ดี เพราะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เช่นในช่วงที่บาทแข็งค่าเกิน 5% ในปีที่แล้ว หากแลกเอาเงิน USD กลับมา ก็จะขาดทุน แต่หากรวม hedging cost เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในระดับ 2.5% การฝากเงิน USD จะให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกับฝากเงินในไทย


Theme ที่ 4: IMF warning on rising public debt

คุณ Michael

ไม่กังวลมากนักเกี่ยวกับเรื่องหนี้สาธารณะ โดยแนะนำให้ดูปัจจัยอื่นควบคู่กันไป เช่น ที่มาของหนี้สาธาณะว่ากู้ในประเทศหรือต่างประเทศ สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ก่อหนี้ หรือวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ ซึ่งโดยปกติภาครัฐ จะก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อหวังผลระยะยาว เช่นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และคุณ Michael ให้ความสำคัญกับความสามารถในการ finance หนี้ในประเทศมากกว่าขนาดของหนี้


Theme ที่ 5: Will geopolitical tensions threaten outlook for global economy?

คุณ Tai Hui

มองว่าทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้น ระยะสั้นมีความผันผวนแน่นอน ยกตัวอย่างเช่นสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่ประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบบนอุตสาหกรรมพลังงาน หรือยูเครนในฐานะประเทศที่ส่งออกอาหาร แต่ในระยะยาวปัจจัยพื้นฐานจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีมากกว่า ในขณะที่สงครามตะวันออกกลาง (อิสราเอล-ฮามาส) ที่หลายคนคิดว่าน่าจะกระทบกับการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันผันผวน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญ สุดท้ายคือสงครามระหว่างจีนกับใต้หวัน คุณ Tai Hui มองว่าหากเกิดผลกระทบขึ้นจริงจะไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับใต้หวัน แต่จะขยายวงกว้างมาถึงสหรัฐฯ และเพื่อนๆ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ในขณะที่อีกฝั่งจะเป็น จีน รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซึ่งมองว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนบนประเด็นความขัดแย้งนี้ ก็แนะนำให้กระจายการลงทุนเหมือนเช่นเคย


คำแนะนำการลงทุน

คุณ Michael Strobaek

มุมมองการลงทุน


  1. ยังคงมองว่า GDP โลกจะเติบโตได้ดี แม้ว่าจะมีความผันผวนบนประเด็น tariffs กดดันอยู่
  2. สินทรัพย์เติบโตน่าจะยังทำได้ดี หนุนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ และและนโยบายกระตุ้นจากฟากยุโรป
  3. การลงทุนทางเลือก เช่น Hedge Funds เริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดพอร์ตมากขึ้น

สิ่งที่อยากฝากกับนักลงทุน


  1. การกระจายการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญในภาวะแวดล้อมการลงทุนในภาพรวมที่ผันผวนมากขึ้น
  2. ถึงเวลาของ Active investing เพราะโอกาสการลงทุนในปัจจุบันมาไวไปไว

คุณ Tai Hui

มุมมองการลงทุน


  • แนะนำการจัดพอร์ตแบบกระจายการลงทุนเพื่อรับมือความผันผวนเช่นกัน
  • สินทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมอเช่น ตราสารหนี้ หุ้นปันผล Options และการลงทุนทางเลือก ก็เป็นส่วนสำคัญที่ควรมีติดพอร์ตในระยะสั้นที่ตลาดมีความผันผวนสูง
  • มองระยะยาว ยังแนะนำลงทุนในกลุ่ม Tech และหุ้นเติบโต

คุณ Siriporn

แนะนำการจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite เน้นกระจายการลงทุน โดย Core Portfolio 50% มีให้เลือกระหว่าง


  1. K WealthPLUS Series กองทุนผสมที่เป็นความร่วมมือระหว่าง K Asset กับ JPMAM คัดสรรสินทรัพย์ลงทุนให้นักลงทุนได้เลือกตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ กับ
  2. K-AllRoad Series ซึ่งเป็นการจัดพอร์ตคล้ายๆ K WealthPLUS Series คือสามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ แต่การคัดสินทรัพย์เข้าพอร์ตจะมีการจัดการแบบเป็นระบบ ลด Bias ในการตัดสินใจลงทุน

ที่เหลืออีก 50% เป็น Satellite Portfolio กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ (K-FIXEDPLUS) หุ้น (K-GHEALTH) และตราสารหนี้นอกตลาด (K-GPC-UI) กอง Satellite อื่นๆ สามารถดูได้ตามรูปด้านล่าง




ที่มา: งาน K WEALTH Forum 2025


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: งาน K WEALTH Forum 2025


ผู้เขียน

KWEALTHจิรพัฒน์ จิรนิรันดร์กุล CFA

Back to top