ไขข้อข้องใจ ประกัน(สุขภาพ) ที่มี คุ้มครองโควิดแค่ไหน

สิ่งที่ต้องเช็กก่อนซื้อประกันคุ้มครองโควิดเพิ่ม! เพราะประกันสุขภาพที่เรามีอยู่ อาจคุ้มครองบางส่วนไว้อยู่แล้ว หากอยากซื้อเพิ่มจะได้เลือกประกันที่ให้ความคุ้มครองมากกว่าเดิม

• คนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วควรทบทวนประกันว่าครอบคลุมการรักษา หรือคุ้มครองโควิดมากน้อยแค่ไหน ส่วนคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพควรเลือกแบบประกันที่คุ้มครองทุกการรักษาที่ตรงกับความต้องการได้


• สิ่งที่ควรดูคือประกันสุขภาพนั้น เป็นแบบเหมาจ่าย แยกค่าใช้จ่าย เงินชดเชยรายวันระหว่างนอนรักษา หรือแบบจ่ายเงินก้อน


การแพร่ระบาดของ Covid-19 ย้ำเตือนให้หลายคนมองเห็นว่าสุขภาพว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องวางแผน อีกทั้งทุกวันนี้มีโรคใหม่ๆ เกิดอยู่ตลอดเวลาล่าสุดคือ ฟลูโรนา (Flurona) ซึ่งเป็นชื่ออาการของคนที่ติดเชื้อโควิด (Coronavirus) กับไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) พร้อมกัน ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบฟลูโรนาในไทยแต่ด้วยสถานการณ์ที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนกำลังระบาดหนักอยู่ ทำให้คนส่วนใหญ่มองหาประกันสุขภาพเพื่อให้พร้อมรับความเสี่ยงนี้มากขึ้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็มีประกันคอยช่วยดูแล

ประกัน(สุขภาพ) ที่มี คุ้มครองโควิดแค่ไหน

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าประกันสุขภาพสามารถคุ้มครองโควิดได้ เพราะถือว่าการติดเชื้อโควิดเป็นโรคภัยชนิดหนึ่ง และปัจจุบันก็มีประกันสุขภาพในท้องตลาดมากมายทั้งที่ให้ความคุ้มครองการเจ็บป่วยทั่วไป หรือ คุ้มครองเฉพาะบางกลุ่มโรค เช่น โรคร้ายแรง การติดเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์ต่างๆ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าประกันสุขภาพที่มีอยู่คุ้มครองแค่ไหน ครอบคลุมทุกการรักษาทุกโรคภัยหรือไม่ และมีทางเลือกในการรับการรักษาแบบใดบ้าง เพื่อให้สามารถเข้าใจและนำไปสู่การเลือกประกันสุขภาพที่คุ้มครองโควิดได้คุ้มค่าที่สุด ขออธิบายโดยแบ่งเป็นทางเลือกดังนี้
1) แบบแยกค่าใช้จ่าย : คือประกันสุขภาพที่กำหนดวงเงินความคุ้มครองให้แต่ละรายการแยกตามที่กำหนดไว้ เช่น ค่าห้อง ค่าผ่าตัด และค่ายา เป็นต้น การจ่ายค่ารักษาก็จะเป็นไปตามค่าใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันแต่ละรายการ ซึ่งอาจมีส่วนต่างในกรณีมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินในแต่ละรายการ แต่มีข้อดีคือค่าเบี้ยประกันจะถูกกว่าแบบเหมาจ่ายด้วยวงเงินความคุ้มครองที่เท่ากัน เช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย Health Care Plus
2) แบบเหมาจ่าย : คือประกันสุขภาพที่กำหนดเป็นวงเงินค่าใช้จ่ายโดยรวมไว้เป็นต่อปีหรือต่อครั้ง แต่มักมีการแยกค่าใช้จ่ายบางประเภท เช่น ค่าห้อง ฯลฯ ซึ่งมีทั้งแบบจำกัดค่าห้อง หรือจ่ายให้ตามจริงไม่เกินวงเงินความคุ้มครองสูงสุด โดยค่าเบี้ยประกันสูงกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย แต่มีข้อดีคือมั่นใจได้ว่าคุ้มครองทุกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้วงเงินที่กำหนด เช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบ Elite Health และ Delight Health
3) แบบชดเชยรายวัน : คือประกันสุขภาพที่มีเงินชดเชยให้ในจำนวนเงินที่แน่นอนตามจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล เช่น สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพวงเงินแน่นอน Health Benefit Plus
4) แบบจ่ายเงินก้อน : คือประกันสุขภาพที่จ่ายเป็นเงินก้อนเมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ตรวจพบโรคมะเร็ง ภาวะโคม่าจากการติดเชื้อ Covid-19 เป็นต้น



รูปแบบในการรักษา กับ ประกันสุขภาพ และสวัสดิการที่มี

กรณีที่ดีที่สุดคือไม่ติดเชื้อโควิด แต่ในทางตรงกันข้ามหากเกิดการติดเชื้อโควิดขึ้นมาสิ่งแรกที่ผู้ป่วยมักกังวลใจ คือ ประกันสุขภาพหรือสวัสดิการของที่ทำงานจะครอบคลุมการรักษากรณีไหนบ้าง เพราะหากเลือกได้คงอยากเลือกรูปแบบการรักษาบนพื้นฐานของแบบแผนความคุ้มครองที่แต่ละคนมีติดตัวไว้ ดังนี้

• การรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน (Home & Community Isolation)
- กรณีไม่มีประกัน : สามารถใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิข้าราชการ จะให้ความดูแลในเรื่องค่าติดตาม ประเมิน อาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายแต่ไม่รวมค่าอาหาร เป็นต้น
- กรณีมีประกัน : ไม่สามารถเคลมประกัน

• การรักษาตัวในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ สถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel)
- กรณีไม่มีประกัน : สามารถใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิข้าราชการ จะให้ความดูแลในเรื่องค่าบริการ ทางการแพทย์ ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
- กรณีมีประกัน : สามารถใช้สิทธิของประกันโควิดหรือประกันสุขภาพได้หากต้องได้รับการรักษาตัวตามความจำเป็นทางการแพทย์

ทั้งนี้การที่จะเข้ารับการรักษาแบบใดนั้น ต้องดูความรุนแรงของอาการร่วมด้วยโดยแยกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว คือคนที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก แต่ไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน สามารถเลือกได้ว่าจะเข้ารับการรักษาที่บ้าน ชุมชน โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง คือคนที่อาการไม่รุนแรง แต่อาจมีโรคแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงอื่นเพิ่ม ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น ยกเว้นแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ และ กลุ่มผู้ป่วยสีแดง คือกลุ่มที่มีอาการรุนแรงต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยเร็ว



ประกันสุขภาพที่มีเพียงพอแล้วหรือควรซื้อเพิ่ม

• เช็กค่าห้องของโรงพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษา รวมไปถึง Hospitel คู่สัญญาของโรงพยาบาล ว่าประกันสุขภาพที่มีครอบคลุมค่าห้องหรือไม่
• เช็กวงเงินความคุ้มครองสุขภาพที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลเอกชน หรือ Hospitel อาจจะอยู่ที่หลักแสนบาท
• เช็กรายได้หรือความเสียหายที่เกิดขึ้น หากต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพื่อเลือกประกันแบบชดเชยรายวันที่เหมาะสม สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่ำ สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมองว่าประกันสุขภาพไม่ได้มีความจำเป็นต่อตนเองมากนัก อยากแนะนำให้มีประกันสุขภาพฉบับเล็กๆ หรือประกันคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากการโควิดไว้ ซึ่งค่าเบี้ยมีตั้งแต่หลักร้อยไปหรือหลักพัน

สำหรับคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพหากจ่ายเบี้ยไหว แนะนำให้ทำประกันสุขภาพ เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้จริงเมื่อจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลจากการติดโควิด ซึ่งหลังจากทำประกันสุขภาพแล้วนั้นจะยังไม่คุ้มครองทันทีเนื่องจากมีระยะเวลารอคอย 30 วันสำหรับโรคทั่วไป ส่วนโรคร้ายแรงอาจมีระยะเวลารอคอยถึง 90 วัน

หมายเหตุ
เมืองไทยประกันชีวิตปรับลดระยะเวลารอคอย กรณีการเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด 19 จากเดิม 30 วัน เหลือเพียง 14 วัน ถึงวันที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารกสิกรไทย, บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต