ไขข้อสงสัย มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้

ตอบทุกข้อสงสัย “มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้” ที่เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ พร้อมตรวจสอบคุณสมบัติ และวิธีเข้าร่วมโครงการ

● มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เหมาะกับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีนี้ อาจจะมีเงินแค่พอใช้หมุนเวียนในธุรกิจ แต่ยังไม่พอชำระหนี้ธนาคารตามสัญญา

● มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เป็นการตีโอนทรัพย์ที่ติดจำนองมาชำระหนี้คืนธนาคาร ซึ่งหลังจากโอนทรัพย์ไปแล้วผู้ประกอบธุรกิจมิสิทธิใช้ทรัพย์นั้นในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยจ่ายเป็นค่าเช่าให้กับธนาคารตามอัตราที่ตกลงกัน

● หากผู้ประกอบธุรกิจต้องการได้ทรัพย์สินคืน สามารถซื้อคืนได้ในราคายุติธรรม เพราะมีกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจน

● หากสนใจมาตรการนี้ ผู้ประกอบธุรกิจขอเข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 19 เม.ย. 66 หรือจนกว่าวงเงินสนับสนุนเต็ม


หลังจากทั่วโลกได้รู้จักกับโรคโควิด-19 มาได้สัก 2-3 ปีแล้ว ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการใช้ชีวิตของทุกคน เพราะมีการ Lockdown อยู่เป็นระยะๆ ทำให้ผู้คนและธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ทางภาครัฐจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือในหลายๆ ด้านออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้ทุกคน ทุกธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

มาตรการให้ความช่วยเหลือ


มาตรการให้ความช่วยเหลือที่ออกมาเป็นระยะๆ ให้กับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น เช่น (1) การลดยอดเงินผ่อนเหลือ 75% หรือ 50% หรือ 25% ของยอดการผ่อนเดิม เช่น เดิมผ่อน 10,000 บาท ถ้าขอลดการผ่อน 50% เหลือ 5,000 บาท, (2) การงดจ่ายเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย, (3) การงดจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย, (4) การแปลงหนี้หมุนเวียนเป็นแบบเงินผ่อน เช่น แปลงหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรเงินด่วน เป็นเงินผ่อนรายเดือน เป็นต้น

สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาล่าสุด โดยเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ได้แก่ (1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เป็นสินเชื่อที่ให้เงินไปใช้ในการทำธุรกิจ ใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน และนำไปใช้ฟื้นฟูธุรกิจ และ (2) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

ทำความรู้จักกับมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” (Asset Warehousing)


มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ที่ออกมาเพื่อช่วยผู้ที่ยังคงทำธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง คาดว่าใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสัก 1-2 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันธุรกิจยังมีรายได้ไม่สอดคล้องกับภาระที่ต้องจ่ายหนี้ให้ธนาคารทุกเดือน ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ออกมาตรการนี้ขึ้นมา ด้วยการนำทรัพย์สินที่ติดจำนองกับธนาคาร เพื่อตีโอนมาชำระหนี้ให้กับธนาคาร โดยชำระได้สูงสุดไม่เกิน 80% ของราคาประเมิน** (** ขึ้นกับการพิจารณาของธนาคาร) และไม่เกินเงินต้นและดอกเบี้ยที่มีกับธนาคาร แต่จะไม่มีเงินส่วนต่างจากการตีโอนทรัพย์ หรือไม่มีเงินทอนนั่นเอง เช่น เป็นหนี้ 10 ล้านบาท ทรัพย์สินที่ติดจำนอง มูลค่า 15 ล้านบาท กำหนดราคาตีโอนสูงสุด 80% ของมูลค่า เท่ากับ 12 ล้านบาท แต่จะได้ไม่เกินกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยที่มี ดังนั้น จึงมีมูลค่าที่ตีโอน เท่ากับ 10 ล้านบาท เมื่อตีโอนชำระหนี้ไปแล้ว ลูกหนี้จะไม่มีภาระต้องมาจ่ายหนี้คืนธนาคารอีกต่อไปกรณีที่ปิดหนี้ได้หมด หรือถ้าปิดหนี้ได้ไม่หมด จะมีภาระผ่อนที่น้อยลง และเมื่อโอนทรัพย์ชำระหนี้ไปแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจหรือลูกหนี้จะได้สิทธิในการเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อทำธุรกิจต่อไป โดยจ่ายเพียงค่าเช่ารายเดือนให้กับธนาคารตามอัตราที่ตกลงกัน

หลังจากที่เวลาผ่านไปสักระยะ ธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติ มีเงินเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิขอซื้อทรัพย์สินคืนจากธนาคารได้ทั้งเงินสดหรือกู้เงิน โดยราคาที่ขายคืนจะไม่เกินกว่าราคาตอนที่รับโอนมา บวกกับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying Cost) ไม่เกิน 1% ต่อปี บวกกับค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ตามที่ธนาคารจ่ายจริง (ถ้ามี) หักด้วยค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือลูกหนี้จ่ายให้กับธนาคารตลอดสัญญา ตัวอย่างเช่น ทรัพย์สินที่ตีโอนชำระหนี้ มูลค่า 10 ล้านบาท โดยตกลงค่าเช่ากันที่เดือนละ 20,000 บาท จากนั้น อีก 3 ปี ผู้ประกอบธุรกิจจะขอซื้อทรัพย์สินคืน ดังนั้น ราคาที่ซื้อคืน เท่ากับ 9.58 ล้านบาท ซึ่งคำนวณมาจากราคารับโอนทรัพย์ 10 ล้านบาท บวกด้วยค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาทรัพย์สิน 300,000 บาท (10 ล้านบาท X 1% ต่อปี X 3 ปี) หักด้วย ค่าเช่ารวมที่ได้จ่ายมา 720,000 บาท (20,000 บาทต่อเดือน X 36 เดือน) จะเห็นได้ว่าลูกหนี้ที่เข้ามาตรการนี้มั่นใจได้ว่าสามารถซื้อคืนทรัพย์สินได้ในราคาที่ยุติธรรม เพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน

ข้อดี หากผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาตรการนี้ จะได้ประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น
• ธุรกิจลดภาระหนี้และดอกเบี้ยลงชั่วคราว จากเดิมที่ต้องจ่ายเดือนหลักแสน อาจจะเหลือแค่ค่าเช่าทรัพย์เดือนละไม่กี่หมื่น
• ธุรกิจมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจได้อย่างคล่องตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องการจ่ายหนี้
• ได้สิทธิซื้อทรัพย์คืนภายในระยะเวลา 3-5 ปีนับแต่วันที่โอนทรัพย์สิน โดยธนาคารจะไม่นำทรัพย์สินนั้นไปขายไปกับผู้อื่นหากเจ้าของเดิมไม่ยินยอม ที่สำคัญผู้ประกอบธุรกิจซื้อคืนได้ในราคาที่ยุติธรรม เพราะกำหนดหลักเกณฑ์การขายไว้อย่างชัดเจน

คุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้”


ผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.ได้ทั้งผู้ประกอบธุรกิจบุคคล หรือนิติบุคคล เช่น บริษัทห้างร้านต่างๆ แต่ต้องจดทะเบียนในประเทศไทย
2.เป็นลูกหนี้สินเชื่อของธนาคาร ที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564
3.ต้องไม่เป็นหนี้ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
4.ต้องไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน
5.ต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางตรง หรือทางอ้อมจาก COVID-19
6. ต้องการโอนทรัพย์สินของธุรกิจที่ติดจำนองกับธนาคาร เพื่อนำมาชำระหนี้ให้ธนาคาร

วิธีเข้าร่วมมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้”


หากต้องการเข้ามาตรการนี้ สามารถติดต่อไปที่ธนาคารหรือพนักงานที่ติดต่อเป็นประจำได้โดยตรง พร้อมทั้งเตรียมเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องคล้ายกับการขอสินเชื่อทั่วไป โดยมาตรการนี้มีระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ 20 เม.ย.2564 จนถึง 19 เม.ย. 2566 หรือจนกว่าวงเงินที่ได้รับการสนับสนุนจะเต็ม ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 และยังเป็นธุรกิจที่ไปต่อได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ถือเป็นทางเลือกในการแบ่งเบาภาระหนี้สินเฉพาะหน้าได้ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้ามาตรการนี้จะได้รับอนุมัติ ขึ้นกับการพิจารณาอนุมัติของแต่ละธนาคาร