ส่อง Virtual Bank มีดียังไงบ้าง

Virtual Bank เรียกง่าย ๆ ว่า ธนาคารเสมือนจริง หรือ ธนาคารไร้สาขาในโลกความเป็นจริง นับเป็นก้าวต่อไปของระบบการเงินไทยให้ทันเทรนด์โลก



Virtual Bank คืออะไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความหมายของ Virtual bank หรือ Digital-only bank ไว้ว่า คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญคือ
1. ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขา และตู้ ATM แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้
2. ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน โดยที่ลูกค้าสามารถใช้บริการ ติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual Bank จัดเตรียมไว้
นอกจากนี้ Virtual Bank ยังมีระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core banking system) บนเทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย ทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และนำเสนอประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีให้แก่ผู้บริโภค แถมยังมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอีกด้วย

เทรนด์โลกและตัวอย่าง Virtual Bank ในต่างประเทศ

ในหลายประเทศได้ออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และดำเนินธุรกิจไปบ้างแล้ว เช่น บราซิล สหราชอาณาจักร มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจของ Virtual bank ในต่างประเทศ เช่น บัญชีเงินฝากที่ไม่มีสมุดคู่ฝากโดยให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าบัญชีเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน มี AI (Artificial Intelligence) ที่ช่วยประมวลผลพฤติกรรม แนะนำการออมและการใช้จ่ายให้เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้ฝาก มีบริการสินเชื่อที่ผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และได้รับอนุมัติอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีบริการเพื่อ SMEs รายย่อย อย่างบริการเชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์และระบบการออกใบแจ้งหนี้แบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้ SMEs รายย่อยสามารถบริหารการเงินได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ลองมาดูตัวอย่าง Virtual Bank ในต่างประเทศกันว่ามีความน่าสนใจอย่างไร
• บราซิล
Nubank เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเจ้าแรกๆ ในบราซิล มีเงินทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 49,500 ล้านบาท และมีลูกค้า 35 ล้านคน โดยเริ่มจากการให้บริการบัตรเครดิตที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม และยังคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ถึงครึ่งหนึ่ง รวมถึงมีการออกแบบแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว และได้ขยายการให้บริการในด้านอื่นๆ ทั้งบัญชีเงินฝากดิจิทัล บัตรเดบิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
• สหราชอาณาจักร
Starling Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแห่งแรกของสหราชอาณาจักร มีฐานลูกค้ากว่า 2.7 ล้านคน ให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนทั่วไป โดยมีการ Customize ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม ช่วยให้ผู้ใช้บริการจัดการบัญชีเงินฝากของตนเองผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ มีการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์แบบเรียลไทม์เมื่อมียอดเงินเข้าออก สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ รวมถึงการใช้งานในต่างประเทศโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม และให้บริการแบบ 365/24/7 อีกด้วย
• เกาหลีใต้
Kakao Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีจำนวนลูกค้ากว่า 17 ล้านคน และมีผู้ใช้งานถึง 11 ล้านคนต่อเดือน โดยมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจาก Kakao Talk ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันคล้ายกับ LINE ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ Kakao Bank ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่า ให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม และยังไม่คิดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการด้านอื่นๆ รวมถึงออกแบบการใช้งานที่น่าดึงดูดและใช้งานง่าย ทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
• จีน
WeBank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของกลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat โดยปัจจุบัน WeBank สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน โดยต่อยอดธุรกิจจากการที่มีฐานลูกค้าเดิมเป็นจำนวนมาก สามารถนำข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การนำพฤติกรรมของลูกค้าด้านการใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คมาจัดทำ credit scoring แบบใหม่ และอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ทำให้ Virtual Bank ในจีนประสบความสำเร็จ

Virtual Bank ในไทย

ลักษณะสำคัญของ Virtual Bank ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการ ได้แก่
1. ต้องมีขอบเขตการประกอบธุรกิจเหมือนธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอย่างเต็มรูปแบบ และอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลความเสี่ยงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม
2. ต้องจดทะเบียนจัดตั้งและมีสำนักงานใหญ่หรือบริษัทแม่ในไทย เพื่อให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจผ่านหน่วยงานในไทยได้
โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนไปแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และจะออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นี้ ซึ่งต้องรอติดตามกันต่อไป
ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งก็เริ่มปรับตัวไปในทิศทาง Virtual Bank มากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่มี Virtual Bank ในไทย แต่ไทยเรามีบริการทางการเงินในรูปแบบ Social Banking หรือบริการธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดียอย่าง LINE BK ซึ่งเป็นบริการทางการเงินที่ผู้ใช้บริการสามารถโอน ออม ยืม จ่ายได้ในแอปพลิเคชัน LINE เพียงแค่เปิดบัญชีเงินฝาก LINE BK เท่านั้น ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการทางการเงินให้กับผู้ใช้งาน

ผู้บริโภคควรเตรียมตัวอย่างไร

จากทิศทางของระบบการให้บริการทางการเงินที่มีแนวโน้มเป็น Virtual Bank มากขึ้น แนะนำให้ผู้บริโภคเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
- ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยใช้งาน Internet Banking และ Mobile Banking อย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน
- เรียนรู้วิธีการจัดการเงินใหม่ๆ และวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างปลอดภัย เช่น ตั้งรหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน ใช้การยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอนเมื่อทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้อื่น
- ศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนใจให้แน่ใจก่อนตัดสินใจ เนื่องจากอนาคตผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงและมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้บริการทางการเงินที่มีความหลากหลาย อาจได้รับข้อเสนอที่จูงใจ ทั้งที่ตอบโจทย์ความต้องการได้มากยิ่งขึ้น หรือข้อเสนอที่เกินจำเป็นนำไปสู่พฤติกรรมการเงินที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง ได้รับอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็วทันใจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
โลกหมุนไว เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้บริโภคควรเรียนรู้ เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการแข่งขัน เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ย่อมมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายและน่าสนใจออกมานำเสนอ สุดท้ายแล้วคนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเอง
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ขอบคุณข้อมูลจาก : KResearch Econ Digest : Virtual Bank มาแล้ว...

คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
Back to top