3 ธุรกิจดาวรุ่งน่าลงทุน รับนโยบายหลังจัดตั้งรัฐบาล

ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของว่าที่รัฐบาล โดยมี 3 นโยบายใน MOU ที่จะมีผลต่อธุรกิจตลาดทุน จะมีธุรกิจใดได้ประโยชน์หรือรับผลกระทบบ้าง

กดฟัง
หยุด

• 3 นโยบายหลัก ตาม MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำได้ทันที และมีผลต่อตลาดทุนไทย คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การลดค่าไฟ และการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่าย (ค่าไฟ) ของประชาชน และการหาการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจ SMEs จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจได้


• 3 ธีมธุรกิจที่น่าลงทุนหลังจัดตั้งรัฐบาล ที่จะทำให้เงินในกระเป๋าประชาชนมีมากขึ้น คือ ธีมการบริโภคในประเทศ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มการเงิน กลุ่มพาณิชย์ กลุ่ม ICT และกลุ่มขนส่ง ธีมการจับจ่ายใช้สอยของชิ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มการเงิน สินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อรถ หรือ จักรยานยนต์ และธีมนโยบายการลดค่าไฟฟ้า ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่ม ICT กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มถุงมือยาง


• สำหรับนักลงทุนระยะสั้น KS มอง 2 แนวทาง คือ 1.ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ในธีม Global Play ในช่วงครึ่งเดือนแรกของ ก.ค. 66 แล้วสลับกับมา Domestic Play ซึ่งรวมถึงกองทุนหุ้นไทย อย่างกองทุน K-STAR หรือ 2.รอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลและรอตลาดหุ้น Rebound หลังกลางเดือน ก.ค. 66 ส่วนระยะกลาง-ยาว แนวรับบริเวณ 1,444-1,466 จุด เป็นบริเวณที่เข้าลงทุนได้ หรือเลือกลงทุนในกองทุนผสม อย่าง K-PLAN 2



จากสถิติหลังการเลือกตั้งของไทย โดยเฉลี่ยหลังเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น จะมาจากความชัดเจนในเรื่องนโยบาย ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน กำลังจะเปิดประชุมสภาครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภา และนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ หลังจัดตั้งรัฐบาลได้ จะมีธุรกิจใดบ้างเป็นธุรกิจดาวรุ่งได้บ้าง บทความนี้จะเล่าให้ฟัง



นโยบายของว่าที่รัฐบาลใน MOU ที่จะทำได้ทันที


ในรายละเอียดของ MOU ที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตกลงร่วมกันมีหลายนโยบายที่จะต้องทำภายใน 100 วันหลังจัดตั้งรัฐบาล ส่วนนโยบายหลักๆที่มีผลต่อธุรกิจตลาดทุนได้ สามารถสรุปได้อยู่ 3 นโยบาย ดังนี้


1.ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อย่างเร็วที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้คือ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เนื่องจากไม่เพียงแค่บรรจุในนโยบายของรัฐบาลแล้วจะดำเนินการได้ จะต้องผ่านผู้มีอำนาจในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ นั่นคือ คณกรรมการค่าจ้าง จะประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้าง ในการพิจารณา ซึ่งจะมีข้อดี คือ ทำให้ลูกจ้างมีเงินได้เพิ่มขึ้น และทำให้มีกำลังมาจับจ่ายใช้สอย(การบริโภค)ดีขึ้น ในขณะที่ข้อเสีย คือ ต้นทุนการผลิตของนายจ้างเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อราคาข้าวของสินค้า (อัตราเงินเฟ้อ) สูงขึ้น


2.ปรับลดค่าไฟฟ้า มีปัจจัย 2 อย่าง ก็คือ ราคาพลังงาน ณ ขณะนั้น (สูง-ต่ำ) และความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนโยบายของแกนนำในปัจจุบัน มีนโยบายในการลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนในทันที ซึ่งต้องพิจารณาว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กับ การปรับลดค่าไฟฟ้า ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อจะเป็นในทางบวกหรือลบ


3.นโยบายช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นั้นจะช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีรายละเอียดของนโยบายและผลกระทบอย่างไรเพิ่มเติมบ้าง



3 ธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายหลังจัดตั้งรัฐบาล


1.กลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศ มาจากทั้ง 3 นโยบาย คือ การปรับขึ้นค่าแรง ที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการปรับลดค่าไฟฟ้า จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ส่งผลให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่วนนโยบายช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะช่วยให้ธุรกิจรายกลางและเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ คือ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่ม ICT และกลุ่มขนส่ง


2.กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของชิ้นใหญ่ มาจากทั้ง 3 นโยบายเช่นกัน ที่จะช่วยให้มีรายได้เพิ่ม และลดค่าใช้จ่ายพื้นฐาน นั่นคือ กลุ่มการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อยต่างๆ ที่จะซื้อของชิ้นใหญ่เพื่อใช้ภายในครัวเรือนหรือเพื่อกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม


3.กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายลดค่าไฟฟ้า ในอีกมิติ คือ ต้นทุนของผู้ประกอบการ เมื่อมีการลดค่าไฟจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการหรือธุรกิจกลุ่มพาณิชย์ กลุ่ม ICT กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มถุงมือยาง



กลยุทธ์การลงทุนภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล


สำหรับนักลงทุนระยะสั้น ทาง KS มีมุมมองในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ก.ค. 66 จะมีความผันผวนของตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีกลยุทธ์ 2 แนวทาง คือ 1.ในช่วงครึ่งเดือนแรกของ ก.ค. ใช้ธีมการลงทุน Global Play (เล่นตามการลงทุนต่างประเทศ) ก่อน แล้วเมื่อการเมืองไทย มีความชัดเจน รวมถึงความชัดเจนเรื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะขึ้นต่อหรือไม่ ค่อยย้ายมาลงทุนธีมการลงทุน Domestic Play (ลงทุนในประเทศไทย) หรือ 2.ชะลอการลงทุนหุ้นไทยไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลไทย ซึ่งนอกจากการลงทุนในหุ้นไทยแล้ว ยังมีกองทุน K-STAR ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย เช่นกัน


สำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว ในเดือน ก.ค. 66 ทาง KS ประเมินกรอบแนวรับ อยู่ที่ 1,444-1,460 จุด โดยใช้สมมติฐานที่ Earning Yield Gap ที่ 0.5 S.D. ถือเป็นระดับราคาที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนได้** สำหรับกองทุนรวม แนะนำ กองทุนผสม (ตราสารหนี้+หุ้น) K-PLAN 2



ความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง


1.ความไม่แน่นอนทางการเมือง การคลัง และการส่งออกที่ชะลอตัวลง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โดยทาง KS มีมุมมองต่อการเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ใน 3 ทางเลือก นั่นคือ 2 ทางเลือกแรก เป็นการตกลงภายในขั้วเดียวกันได้ และแบ่งตำแหน่งประธานสภา และนายกรัฐมนตรีกันได้ ส่วนทางเลือกที่ 3 มีการจับข้ามขั้ว ซึ่งเป็นการประเมินความเป็นไปได้ เพื่อประเมินปัจจัยในการลงทุนต่อเท่านั้น


2.ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ปัจจัยการส่งออกได้รับผลกระทบ และทำให้จะเติบโตได้ต้องเน้นพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก



ที่มา : การเงินธนาคาร บล.กสิกรไทย เปิดโผหุ้นเด่นเดือน มิ.ย. ในวันที่ 7 มิ.ย. 66

** KS Forward วันที่ 30 มิ.ย. 66


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ผู้เขียน

K WEALTH Trainer สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top