ปี 2025 เป็นปีที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น กองทุน K-USA ลงทุนหุ้นอย่าง Magnificent 7 ที่ทำผลตอบแทนได้ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาด้วยความคาดหวังสูง งบการเงินจะเป็นตัวบ่งบอกว่าหุ้นมีโอกาสไปต่อหรือไม่

เจาะงบ Top 10 หุ้น K-USA งานนี้ใครมาแรง

ปี 2025 เป็นปีที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น กองทุน K-USA ลงทุนหุ้นอย่าง Magnificent 7 ที่ทำผลตอบแทนได้ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาด้วยความคาดหวังสูง งบการเงินจะเป็นตัวบ่งบอกว่าหุ้นมีโอกาสไปต่อหรือไม่

กดฟัง
หยุด
  • หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ที่กองทุน K-USA ถืออย่าง Amazon.com Microsoft และ Alphabet ประกาศงบโตกระฉูดแต่ราคาหุ้นร่วงลงเพราะรายได้จากธุรกิจคลาวด์ทำตลาดผิดหวัง แต่ Nvidia ยังไม่ทำให้ตลาดผิดหวังเช่นเคย ขณะที่กลุ่มการเงิน KKR งบออกมาดีแต่เผชิญแรงขายทำกำไรเพราะราคาขึ้นมาเกือบ 100% ในรอบปี ขณะที่ VISA ราคาหุ้นตอบรับเชิงบวกตามงบที่ออกมาดี
  • หุ้น Top 10 ในกองทุนหลัก K-USA ราคาปัจจุบันยังมี Upside อ้างอิง Bloomberg consensus มากกว่า 20% ถึง 8 ใน 10 ตัว เป็นโอกาสทยอยสะสม K-USA ในช่วงที่ราคาหุ้นย่อตัวช่วงประกาศงบ โดยลงทุนเป็น Satellite Portfolio เพิ่มเติมจาก Core Portfolio ในกลุ่มกองทุน K-Wealth PLUS series (K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP หรือ K-WPULTIMATE)

รีวิวงบสิ้นสุดไตรมาส 4/2024 หุ้น Top 10 ของ K-USA

นักลงทุนที่ได้ติดตามข่าวสารและมุมมองการลงทุนจากหลากหลายที่รวมถึง K WEALTH คงทราบดีว่าปีนี้เป็นปีที่ตลาดมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามั่นใจในการลงทุนต่อโดยเฉพาะในระยะยาวคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เพราะราคาหุ้นที่ขึ้นมาย่อมมาพร้อมกับความคาดหวังว่าธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้จริง หากธุรกิจนั้นๆ ยังสามารถเติบโตตามความคาดหวังของนักลงทุนได้ ราคาหุ้นก็มีโอกาสไปต่อ แต่หากผลประกอบการออกมาน่าผิดหวังหุ้นก็พร้อมลงแรง


วันนี้ K WEALTH จะพานักลงทุนมารีวิวผลการดำเนินงานของหุ้นสัก 6 ตัวเด่นที่อยู่ใน Top 10 ของ K-USA ซึ่งได้ประกาศงบออกมาแล้ว โดย K-USA ในรอบ 1 ปี ทำผลตอบแทนได้ดีจากหุ้นหลายๆ ตัวที่ราคาปรับขึ้นมาโดดเด่นจาก Story ไม่ว่าจะ AI หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้ดีกว่านักวิเคราะห์คาดในปีที่แล้ว เมื่อพูดถึงความคาดหวังนักลงทุนไม่เพียงแต่คาดหวังการเติบโต แต่ต้องเติบโตในระดับที่สมเหตุสมผลกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาล่วงหน้า แล้วแต่ละตัวทำได้ดีแค่ไหนมาดูกันเลยครับ


  1. Amazon.com ประกาศงบการเงินเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นตอบรับเชิงลบ แม้รายได้และกำไรสุทธิดีกว่าที่ตลาดคาด โดยรายได้เติบโต 10% YoY สู่ระดับ 1.878 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (USD) แต่ตลาดผิดหวังเล็กน้อยในรายได้ธุรกิจคลาวด์ที่เติบโต +19% YoY สู่ระดับ 2.88 หมื่นล้าน USD ขณะที่กำไรสุทธิโตเท่าตัวแตะ 2 หมื่นล้าน USD
  2. Microsoft ประกาศงบการเงินเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นตอบรับเชิงลบ แม้รายได้เติบโต 12% YoY สู่ระดับ 6.96 หมื่นล้าน USD นำโดยธุรกิจคลาวด์ที่รายได้ทะลุ 4 หมื่นล้าน USD แต่ตัวเลขนี้ก็ยังต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย อย่างไรก็ตามรายได้ในส่วน AI ยังโตดีที่ 175% YoY ทะลุหมื่นล้านเป็นที่เรียบร้อย (อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้าน)
  3. KKR & Co ประกาศงบการเงินเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา แม้สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เติบโต 15% YoY แตะระดับ 6.38 แสนล้าน USD และมีรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับค่าธรรมเนียมที่ 843 ล้าน USD โต 25% YoY แต่ราคาหุ้นเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาเล็กน้อยหลังปรับตัวขึ้นมากว่าเท่าตัวในรอบ 1 ปี
  4. Visa ประกาศงบการเงินเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นตอบรับเชิงบวก จากทั้งรายได้และกำไรสุทธิดีกว่าที่ตลาดคาด โดยรายได้เติบโต 10% YoY สู่ระดับ 9.5 พันล้าน USD ขณะที่กำไรสุทธิเติบโต 11% YoY อยู่ที่ราว 5.5 พันล้าน USD
  5. Alphabet ประกาศงบการเงินเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นตอบรับเชิงลบเช่นเดียวกับ Amazon.com และMicrosoft จากธุรกิจคลาวด์ที่เติบโตต่ำกว่าตลาดคาดแม้เติบโตถึง 30% อยู่ที่ราว 1.2 หมื่นล้าน USD แม้ในภาพรวมกำไรสุทธิทำได้ 2.15 ดอลลาร์ต่อหุ้น เทียบกับนักวิเคราะห์คาด 2.13 ดอลลาร์ต่อหุ้น รวมถึงรายได้โฆษณาจาก YouTube ที่ทำได้ดีกว่าตลาดคาด
  6. Nvidia ล่าสุดร้อนๆ ประกาศงบออกมาวันนี้ (26 ก.พ.) ราคาหุ้นหลังตลาดปิด (เช้า 27 ก.พ. บ้านเรา) ยังเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจากทั้งรายได้และกำไรออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด รายได้รวมเติบโต 78% YoY อยู่ที่ 3.933 หมื่นล้าน USD เทียบกับตลาดคาด 3.805 หมื่นล้าน USD ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 0.89 ดอลลาร์ต่อหุ้น เทียบกับนักวิเคราะห์คาด 0.84 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยชิพ AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตของ Nvidia

งบการเงินแต่ละตัวบอกอะไรเรา แล้วตลาดมองยังไง?

นักลงทุนคงเห็นแล้วว่าแม้งบการเงินหุ้น Magnificent 7 อย่าง Amazon.com Microsoft และ Alphabet ออกมาเติบโตแรงก็ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นจะตอบรับเชิงบวก ณ วันประกาศงบ การที่สัดส่วนรายได้บางรายการผิดคาดก็ทำให้หุ้นตอบรับเชิงลบได้เพราะความคาดหวังนักลงทุนค่อนข้างสูงสะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขึ้นมาล่วงหน้า 1-2 ปี ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนี้ราคาหุ้นจะไม่ไปต่อ หากเรามาดูราคาเป้าหมายจาก Bloomberg Consensus ข้างล่างจะเห็นว่านักวิเคราะห์ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นหลายตัวที่อยู่ใน Top 10 ของ K-USA สังเกตได้จากราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน (วันที่ 25 ก.พ.68) ที่ยังมี upside ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์


ภาพที่ 1 ประมาณการณ์ Upside ของหุ้น Top 10 อ้างอิงราคาเป้าหมายของ Bloomberg Consensus



ที่มา Bloomberg ข้อมูล ณ 25 ก.พ. 2025


ภาพที่ 2 พอร์ตการลงทุนปัจจุบันของ Brown Advisory U.S. Growth fund กองทุนหลัก K-USA



ที่มา Brown Advisory ณ วันที่ 31 ม.ค. 2025


คำแนะนำการลงทุน

K WEALTH เรามีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นสหรัฐฯ ที่มีปัจจัยพื้นฐานโดดเด่นเฉพาะตัว และมองว่าการเลือกหุ้นลงทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการลงทุนบนดัชนี จึงแนะนำทยอยลงทุน K-USA เป็น Satellite Portfolio เนื่องจากกองทุนหลักใช้กลยุทธ์คัดเลือกหุ้นแบบ Bottom-up สอดคล้องกับมุมมองเรา ถึงแม้สถิติในอดีตระยะยาวทำได้ค่อนข้างดีแต่ด้วยปรัชญาการลงทุนที่โฟกัสหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ทำให้บางช่วงเวลาอาจทำผลตอบแทนได้แพ้ตลาด โดยเฉพาะช่วงที่หุ้น Mid-Small ทำได้ดีกว่า จึงแนะนำทยอยสะสมช่วงตลาดย่อตัวลงเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น โดยลงทุนไม่เกิน 30% ของพอร์ตการลงทุน* เพิ่มเติมจาก Core Portfolio ที่ K WEALTH แนะนำใน K-Wealth PLUS series ได้แก่ K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP หรือ K-WPULTIMATE โดยเลือกเพียง 1 กองตามความเสี่ยงและความผันผวนที่ลูกค้ารับได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

• Bloomberg

• Investing.com

• Brown Advisory


คำเตือน

* ปัจจุบัน K WEALTH มีแนะนำลงทุน SCBUSAA สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก หากนักลงทุนมีสัดส่วน SCBUSAA อยู่แล้วให้พิจารณาน้ำหนักรวมกันกับ K-USA ไม่เกิน 30% เพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวในตลาดใดตลาดหนึ่ง

** โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากบลจ. กสิกรไทย (KASSET) และบลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM)

ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ผู้เขียน

K WEALTHสุกฤษฎิ์ กิตติธนโสภณ

Back to top