ตั้งแต่เริ่มปี 2568 มา ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยลบรุมเร้าค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านตัวดัชนี SET Index ที่ตั้งแต่เริ่มปีมาจนถึงสิ้นเดือนก.พ. 68 ดัชนีกลับปรับลงมาถึง 13.9% วันนี้ทาง K WEALTH จะขอมาสรุปผ่านข้อมูลที่ทาง K Securities จัดทำบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบว่าหุ้นไทยที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
ที่มา: TradingView
1. แรงขายกองทุน LTF
ช่วงหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนมักทยอยเทขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนด แต่เนื่องจากปี 2568 เป็นปีที่กองทุน LTF ก้อนสุดท้ายที่ ครบกำหนดขายคืนได้ จึงเห็นแรงขายจากนักลงทุนออกมาค่อนข้างมาก หลังจากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเรียบร้อยแล้ว และหุ้นไทยขาดปัจจัยบวกสนับสนุนทั้งภาพใหญ่ และปัจจัยเฉพาะตัวรายบริษัท จึงเกิดภาพแรงขายทำกำไรอย่างเห็นได้ชัดในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่กองทุน LTF มักจะถูกขายออกมามากที่สุด จากภาพจะเห็นว่าเดือนม.ค. 68 ผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืน LTF ไปแล้วกว่า 19.6 ลบ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการขายคืนในช่วงเดียวกันของ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดัน SET Index
ที่มา: KS Research, Thaimutualfund.com
2. ปัจจัยเฉพาะตัว กดดันราคาหุ้น Big Cap
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) ของไทย จะส่งผลกระทบต่อดัชนี SET Index ในภาพรวม เพราะ SET100 ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 100 อันดับของบริษัทจดทะเบียนในไทย จะคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของตลาดหุ้นไทยในภาพรวม พูดเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือหากหุ้นใน SET100 ปรับตัวลง 1% หากไม่มีปัจจัยอื่นมากระทบอีก จะทำให้ดัชนี SET Index ปรับตัวลง 0.8% ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET100 มีการปรับตัวลงอย่างมีนัยยะ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT
ราคาหุ้นปรับลง 28.9% YTD (ราคาปิด ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) จากประเด็นที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ผู้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยาน 6 แห่งของ AOT ประสบปัญหาสภาพคล่อง จึงทำให้มีการขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่ตกลงออกไปอีก 18 เดือน และขอลดอัตราค่าปรับจาก 18% เหลือ 9%
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
ราคาหุ้นปรับลง 4.5% YTD (ราคาปิด ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) จากประเด็นที่ครอบครัวผู้ก่อตั้งร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในญี่ปุ่น มาขอให้เครือ CP ร่วมลงทุนในการซื้อกิจการคืนจาก Seven & I Holdings ในรูปแบบของ Management Buyout (MBO) ความหมายคือผู้บริหาร/เจ้าของหุ้นเดิม ซื้อหุ้นคืน ที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดกังวลถึงมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนข้างแพง และภาระดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะจากการเข้าซื้อกิจการหากเกิดขึ้นจริง ซึ่งช่วงที่มีข่าว ราคาหุ้นปรับตัวลงมากว่า 10%
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA
ราคาปรับลง 44.4% YTD (ราคาปิด ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- ความกังวลด้านการเปลี่ยนเกณฑ์การคำนวณน้ำหนักหุ้นในดัชนีให้เป็นแบบ Cap Weight เพื่อจำกัดน้ำหนักหุ้นในดัชนีไว้ที่ไม่เกิน 10% ในดัชนี SET50 และ SET100 (ปัจจุบัน DELTA มีน้ำหนักราว 13% และ 11% ของดัชนีทั้ง 2 ตามลำดับ)
- ผลประกอบการที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดอย่างมาก (จะกล่าวถึงในรายละเอียด ในส่วนถัดไปของบทความนี้) ซึ่งทำให้นักลงทุนผิดหวัง และเทขายหุ้น DELTA ลงมาจนติด Floor (ราคาลดลงมา 30% ภายในช่วงการซื้อขายเดียว)
3. ผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ไม่ค่อยน่าประทับใจนัก
นอกจากปัจจัยเฉพาะตัวที่กระทบราคาหุ้นแล้ว ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ คือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในไตรมาส 4 ที่ออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ตลาดเทขายหุ้นออกมา เพราะผิดหวังในกำไรที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT
AOT รายงานกำไรไตรมาส 1 ปีปฏิทิน 2568 ที่ 5.3 พันลบ. แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น 17% YoY จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และรายได้สัมปทานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้เพิ่มขึ้นล้อไปตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และ 25% QoQ ตามปัจจัยฤดูกาลที่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็น High Season การท่องเที่ยวของไทย แต่กำไรที่ออกมาก็ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดอยู่ 6%
นักวิเคราะห์มองกำไรไตรมาส 2 ปีปฏิทิน 2568 เติบโต QoQ บนปัจจัยฤดูกาลที่เป็นหน้าท่องเที่ยวของไทย แต่ราคาหุ้นคาดจะยังถูกกดดันจากข่าวการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่กล่าวถึงในส่วนก่อนหน้านี้ของบทความ แม้ผู้บริหารจะเปิดเผยว่ายังไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองในไตรมาสที่จะถึงนี้เนื่องจากผู้รับสัมปทานมี Bank Guarantee ที่ครอบคลุมการผิดนัดชำระก็ตาม
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
PTT ประกาศกำไรไตรมาส 4 ที่ 9.3 พันลบ. ลดลง 72% YoY และ 43% QoQ ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 27% จากส่วนแบ่งกำไรที่ต่ำกว่าคาดจาก PTTGC และ IRPC และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่ต้องจ่ายให้กับ general partners ของ PTTGM (ธุรกิจยาของกลุ่ม PTT) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรที่ต่ำกว่าคาดนี้ ส่งผลให้กำไรทั้งปี 2567 ปรับตัวลดลงถึง 20% YoY
มองออกไปข้างหน้า นักวิเคราะห์ K Securities คาดแนวโน้มไตรมาส 1 ปี 2568 จะมีการฟื้นตัวในเชิง QoQ จากค่าใช้จ่ายพิเศษที่จะไม่ต่อเนื่องมาในไตรมาสนี้ รวมถึงธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่คาดว่าจะมีกำไรจากสินค้าคงเหลือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA
DELTA ประกาศกำไรไตรมาส 4 ออกมาที่ 2.2 พันลบ. ลดลง 54% YoY และ 64% QoQ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดถึง 60% และเป็นกำไรรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ไตรมาส กำไรที่ต่ำกว่าคาด หลัก ๆ มาจาก
- อัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในไตรมาส 4 และมีการตั้งสำรอง 16.2 ล้านเหรียญสหรัฐหลังพบปัญหาข้อบกพร่องในหน่วย Magnetic Solutions Business Unit (MSBU) ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการเรียกคืนสินค้า
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ จากการเพิ่มขึ้นของค่าลิขสิทธิ์ที่ถูก Delta Electronics Inc (บริษัทแม่ที่ไต้หวัน) เรียกเก็บพร้อมค่าธรรมเนียมการสนับสนุนทางเทคนิคที่เกี่ยวกับ AI
ต้องยอมรับว่าตลาดคาดหวังการเติบโตในหุ้น DELTA ค่อนข้างสูง งบที่ออกมาผิดคาดจึงทำให้ตลาดเทขายลงมาค่อนข้างแรง กอปรกับแนวโน้มในอนาคตในระยะข้างหน้าที่ยังดูไม่ค่อยสดใสนัก บนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าลิขสิทธิ์ ค่าใช้จ่าย R&D ที่เกี่ยวกับธุรกิจ AI และค่าใช้จ่ายกฏหมายเกี่ยวกับคดีความข้อพิพาทด้านสิทธิบัตรเทคโนโลยีจากบริษัท Vicor Corporation ที่ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักรวมถึง K Securities มีการปรับลดประมาณการกำไรและคำแนะนำลง
คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจกองทุนหุ้นไทย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วนักลงทุนอาจมีคำถามว่า แล้วเราควรทำอย่างไร หุ้นที่ลงมาแรงขนาดนี้เข้าเก็บได้แล้วหรือยัง มุมมองหุ้นไทยเป็นอย่างไร K WEALTH แบ่งสรุปมุมมองการลงทุนออกมาได้ 2 มุม ดังนี้
- ผู้ที่ไม่คาดหวังกับหุ้นไทยแล้ว – ทาง K WEALTH มีมุมมองการลงทุนเป็นกลางต่อตลาดหุ้นไทย ดังนั้นหากยังไม่มีหุ้นไทย แนะนำให้รอจังหวะที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนก่อน ส่วนใครที่มีอยู่ และขาดทุนไม่มาก แนะนำให้ถือต่อรอดูสถานการณ์ แต่หากมีสัดส่วนหุ้นไทยเกิน 30% ของมูลค่าพอร์ตรวม แนะนำให้ขายส่วนที่เกินออกมาลงทุนในกองทุนแนะนำอื่น ๆ ที่ทาง K WEALTH แนะนำ ทั้งในส่วนที่เป็น Core Port ผ่านกองทุนผสม K WealthPLUS Series ตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ หรือกองทุน Satellite แนะนำที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าการลงทุนในหุ้นไทย เช่น K-USA, K-HIT, K-GHEALTH, และ K-VIETNAM เป็นต้น
- ผู้ที่ยังอยากลงทุนในหุ้นไทยอยู่ – เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุนทั้งในเชิงปัจจัยพื้นฐาน และภาพใหญ่ที่แม้ ธปท. จะเซอร์ไพรส์ลดดอกเบี้ยช่วงปลายเดือนก.พ. 68 แล้วก็ยังไม่สามารถช่วยหนุนชีวิตตลาดหุ้นไทยได้ การหาหุ้นเติบโตหรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเติบโตของไทยก็ทำได้ไม่ง่ายเหมือนในอดีตแล้ว หากสนใจลงทุนหุ้นไทยจริงๆ แนะนำให้รอจังหวะมากกว่าเข้าไปซื้อตอนนี้ เนื่องจากความเสี่ยงยังคงสูงอยู่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: • K Securities, Prachachat, ThaiPublica