23/11/2564

กสิกรไทยชี้จุดเปลี่ยนเกมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย

          ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์คู่แข่งพรึบ! กสิกรไทยชี้อยากยืนหนึ่ง ลุยเดี่ยวไม่ไหว ชู 4 ปัจจัยพาไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ชั้นนำของโลกระยะยาว ทั้งส่งเสริมระบบนิเวศน์เฮลธ์เทคที่เน้นงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ดันการแพทย์จีโนมิกส์ แรงหนุนจากภาครัฐ และการลงทุนของเอกชน ชูยกระดับสู่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์คุณภาพแบบยั่งยืน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว รองรับสังคมสูงวัย ลดค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลแก่ภาครัฐ หวังปี 2580 สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.5 แสนล้านบาท 

          นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวในหัวข้อเรื่อง “Medical Hub in Thailand: Opportunities and Challenges” ในงานสัมมนา Academic Endocrine Weekend 2021 จัดโดย สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทยว่า ก่อนการเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีรายได้หลักจากการเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของโลก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาคเอเชีย โดยนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มาไทยในปี 2560 คิดเป็น 38% ของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั้งหมดในเอเชีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ชะลอตัวลงต่อเนื่อง แม้กระทั่งก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจาก 13 % ในปี 2560 เหลือเพียง 0.3 % ในปี 2562 คำถามสำคัญคือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแรงมั่นคงได้อย่างไร เพื่อดำรงตำแหน่งในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการแพทย์ระดับโลกในระยะยาว  
​          ประเด็นปัญหาและความท้าทายของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทย มี 3 ประเด็น ได้แก่  
  1. ​​ปัญหาด้านโครงสร้างที่ไทยมุ่งเน้นการรักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนและเน้นจุดเด่นด้านการบริการมากกว่าการใช้เทคโนโลยีและการรักษาที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด และจะเพิ่มได้ไม่เพียงพอรองรับความต้องการภายในประเทศที่จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัญหาสังคมสูงวัย รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งในปี 2563 พบว่าไทยมีการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 70% ของค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ทั้งหมด ทำให้สูญเสียโอกาสในการนำงบประมานเหล่านี้ไปทำการวิจัยและพัฒนาคิดค้นยาที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยเอง 
  2. การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คาดการณ์ว่า ปี 2567 หรือใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ จึงจะฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติที่ 1.2-1.3 ล้านคนต่อปี  
  3. การแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศในภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้เป็นอุตสาหกรรมดาวเด่น  อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย พบว่าจุดแข็งของไทยอยู่ที่ ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และเมื่อเทียบกับการรักษาที่สหรัฐอเมริกา ประเทศไทยจะประหยัดกว่า 82 % นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยยังอยู่ในแนวหน้าของเอเชีย โดย ณ ตอนนี้ มีสถานพยาบาลที่ได้ผ่านมาตรฐานสถาบัน JCI (Joint Commission International) กว่า 66 แห่ง อย่างไรก็ดี ประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย เริ่มเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของไทยอย่างประเทศแถบตะวันออกกลาง ได้เริ่มมีการลงทุนสร้างศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจร อาทิ Dubai Health Care City (DHCC) เพื่อรองรับความต้องการภายในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วย  
          จากประเด็นปัญหาและความท้าทายข้างต้น จึงเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องผันตัวเองจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เน้นปริมาณไปสู่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มีความยั่งยืน เน้นคุณภาพ ความชำนาญเฉพาะทาง และเทคโนโลยี เพื่อเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศ รองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย และลดค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขให้แก่ภาครัฐ 
          ปัจจัยที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก (World-Class Medical Hub) มี 4 ปัจจัย ประกอบด้วย  
 ปัจจัยที่ 1 การส่งเสริมระบบนิเวศน์ของเฮลธ์ เทค ให้เกิดขึ้น (Health Tech Ecosystem)
          1.1 การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการและเกิดการใช้งานจริง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการแพทย์เข้าสู่รูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น สะท้อนได้จากการบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่มีมากขึ้นในช่วงโควิด-19 สามารถช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ลดภาระให้แก่ระบบสาธารณะสุขที่กำลังจะต้องแบกรับภาระสังคมสูงวัยอีกด้วย ตัวอย่างเฮลธ์ เทค ในต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น ที่ประเทศจีนมีแพลตฟอร์ม Ping An Good Doctor ให้บริการด้านสุขภาพครบวงจร ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งาน Ping An Good Doctor 400 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ              1.2 การสนับสนุนระบบนิเวศน์เฮลธ์ เทค สตาร์ทอัพในไทยอย่างจริงจัง ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบนิเวศน์เฮลธ์ เทค สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นแล้วครอบคลุมทั้งด้านยา ยาจากพืชสมุนไพรที่วิจัยและพัฒนาจากวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ บริการกายภาพบำบัด การส่งยา โรงพยาบาลทางไกล เครือข่ายแพทย์ ฯลฯ หากมีการสนับสนุนด้านเงินทุน เสริมศักยภาพ สร้างโมเดลธุรกิจที่ใหญ่และเป็นจริงได้ ก็จะสามารถยกระดับบริการทางการแพทย์ของไทยให้ดีขึ้นไปได้อีก 
          ปัจจัยที่ 2 การมุ่งสู่การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicines)  
          2.1 การแพทย์จีโนมิกส์ คือ นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่น ๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค รวมไปถึงการรักษาโรคเรื้อรังในระดับเซลล์ จึงรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และมีโอกาสหายขาดจากโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง  
          2.2 การส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์จะช่วยยกระดับการรักษาของไทยไปสู่การให้บริการทางการแพทย์แบบแม่นยำ ใช้เทคโนโลยีในการรักษาโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่สูงขึ้นจากกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และด้วยความก้าวหน้านี้จะช่วยให้การดูแลสุขภาพของประชาชนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาระของภาครัฐได้อีกด้วย คาดการณ์ว่าการนำการแพทย์จีโนมิกส์เข้ามาใช้ ประเทศไทยจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในปี 2580 ได้กว่า 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 1 % ของจีดีพี  
          ปัจจัยที่ 3  การสนับสนุนจากภาครัฐ (Government Support ) 
          3.1 แผนยุทธศาสตร์ Thailand Medical Hub เป็นบทบาทของภาครัฐที่จะต้องผลักดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการผลิตบุคลากรฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อให้ไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การแพทย์แบบไทยที่มีความโดดเด่นแตกต่าง ผสมผสานเทคโนโลยี ป้อนเข้ามาในอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทยขึ้นไปอีกระดับ พร้อมตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุคหลังโควิด-19 ได้ 
          3.2 การส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ซึ่งเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า รัฐมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางด้านบริการแบบเฉพาะทางและการให้บริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีนานสูงสุด 8 ปี จึงเป็นโอกาสของผู้ให้บริการในธุรกิจนี้ที่จะเข้ามาลงทุนได้ 
          3.3 การออกนโยบายส่งเสริมการวีซ่าแบบระยะยาว 10 ปี (Long-stay visa) ให้แก่ชาวต่างชาติ สอดรับกับทิศทางของโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ 
          ปัจจัยที่ 4 การลงทุนโดยบริษัทเอกชน (Corporate Venture) 
          กลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศมีการลงทุนทั้งด้านเทคโนโลยีและเงินทุน เริ่มเปิดให้บริการธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์แล้ว ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ บริการศูนย์การแพทย์, บริการแพทย์ทางไกล, บริษัทยา ซึ่งหากบริษัทเอกชนชั้นนำเล็งเห็นศักยภาพในกลุ่มเฮลธ์ เทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายย่อยที่มีจุดเด่นด้านนวัตกรรม รวมทั้งมองเห็นโอกาสจากการแพทย์จีโนมิกส์ ก็จะเกิดการต่อยอดสู่การให้บริการในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และพาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์คุณภาพของภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้เร็วขึ้น 
          นายพิพิธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากไทยสามารถบูรณาการศักยภาพทางเทคโนโลยี ควบคู่กับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ และการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพสูง การยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ชั้นนำของโลกอย่างยั่งยืน ย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ จะกลายเป็นภาคบริการที่สาคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า นอกจากนี้คนไทยก็จะมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายและประหยัดยิ่งขึ้นผ่านเทคโนโลยี ลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลด้านสาธารณสุขในระยะยาว  
          ทั้งนี้ ในปี 2562 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย สร้างรายได้ 2.35 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าภายในปี 2580 จะสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 1.5 แสนล้านบาท 


ประเภท