Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ญี่ปุ่นกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ญี่ปุ่นกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก


ท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดการเงินบนการตื่นกลัวการระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อและขยายไปถึงสหรัฐฯ และยุโรป แม้สถานการณ์ในจีนจะค่อยๆ ดีขึ้น ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงและยังจัดการกับเศรษฐกิจที่ชะลอลงได้ไม่ดีนัก สะท้อนจากดัชนี Nikkei 225 ที่ปรับลดลงกว่า 17% นับตั้งแต่ต้นปี จะว่าไป เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศแล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับหลายปัจจัยกดดันที่ต้องเอาใจช่วย เช่น

 

  1. โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูง GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้วหดตัวถึง 6.3% QoQ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -3.8% ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดตั้งแต่กลางปี 2014 ที่เกิดเพราะการขึ้นภาษีการขาย (VAT) ครั้งก่อน โดยแรงฉุด GDP ในไตรมาส 4 มาจากไต้ฝุ่นครั้งใหญ่และการขึ้น VAT อีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2019 แม้รัฐบาลพยายามออกหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลของการขึ้น VAT แต่ไม่สำเร็จ เช่น การให้เงินคืนหากซื้อสินค้าโดยไม่ใช้เงินสด เนื่องจากคนญี่ปุ่นส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่จ่ายเงินผ่านมือถือ เป็นต้น ดังนั้น GDP ไตรมาส 1 ปีนี้ มีโอกาสติดลบต่ออีกจากผลของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคทันที เพราะ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
  2. พิษ COVID-19 กระทบหลายด้าน
    1. การบริโภคในประเทศ - รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ให้ผู้ประกอบการยกเลิกการจัดงานทุกประเภททั่วประเทศเป็นเวลา  2 สัปดาห์ พร้อมสั่งปิดโรงเรียนถึงเดือนเมษายน และส่งเสริมให้ประชาชนทำงานจากบ้าน การบริโภคในประเทศที่แย่อยู่แล้วจะแย่ลงอีก ทั้งนี้ ปัญหาหลักมาจากโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยไม่แข็งแรง เงินเฟ้อเคลื่อนไหวใกล้ 0% ห่างไกลจากเป้าหมายของธนาคารกลาง (BOJ) ที่ 2% อยู่มาก
    2. การท่องเที่ยว - ปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน สูงขึ้นจาก 32 ล้านคน ในปี 2019 ซึ่งเป้าหมายนี้สูงจนดูเหมือนจะเกิดขึ้นจริงได้ยาก และยิ่งยากขึ้นไปอีกจากประเด็นถกเถียงสำคัญเรื่องการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม นี้ ที่อาจถูกยกเลิก เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) อาจไม่สามารถประกาศให้ COVID-19 อยู่ในระยะที่ควบคุมได้ก่อนการจัดงาน หากยกเลิกจริง จะส่งผลลบต่อ GDP ประมาณ 0.4-0.8% เมื่อเทียบกับกรณีของ SARS ในปี 2003 WHO ประกาศการควบคุมได้ประมาณ 7.5 เดือนหลังการระบาดครั้งแรก ดังนั้น การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2019 ก็อาจสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี COVID-19 ดูจะแพร่กระจายเร็วกว่า SARS จึงมีโอกาสสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่งานโอลิมปิกจะถูกยกเลิก ในอดีตงานโอลิมปิกมีการยกเลิก 3 ครั้ง คือที่เบอร์ลินในปี 1916 (สงครามโลกครั้งที่ 1) ที่โตเกียวในปี 1940 (สงครามจีน-ญี่ปุ่น) และที่ลอนดอนในปี 1944 (สงครามโลกครั้งที่ 2)
    3. การส่งออก - ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญของจีน ความต้องการสินค้าที่ลดลงจากจีนจะลดการส่งออกของญี่ปุ่นไปจีนที่มีสัดส่วนถึง 23% ของการส่งออกทั้งหมด (สถิติปี 2018) ซึ่งส่วนมากเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ เครื่องจักร และเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ ในแง่การส่งออกภาคบริการก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าญี่ปุ่นกว่า 9.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 33.4% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
  3. เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจจำกัด หากเปรียบเทียบความสามารถและประสิทธิภาพของเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีอยู่ในมือ ดูจะด้อยกว่าประเทศอื่นอยู่มาก ทางด้านนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันติดลบอยู่แล้วที่ -0.1% ทำให้การลดดอกเบี้ยลงมากๆ ทำได้จำกัด และยิ่งซ้ำเติมภาคธนาคาร ดูอย่างปี 2019 ที่ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันลดดอกเบี้ย แต่ BOJ กลับไม่ทำได้แม้แต่ครั้งเดียว มาดูด้านนโยบายการคลัง แม้นายกรัฐมนตรีอาเบะได้ประกาศอัดฉีดงบประมาณสูงถึง 26 ล้านล้านเยน แต่ตามสถิติแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นมักมีค่าใช้จ่ายภาครัฐฯ ที่ใช้จริงต่ำกว่าตัวเลขที่ประกาศเสมอ

  4. ตลาดคาดว่า BOJ จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจาก -0.1% เป็น -0.2% ในการประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อบรรเทาผลของ COVID-19 แต่ด้วยปัจจัยท้าทายข้างต้น คงปฎิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น เรายังคงคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นต่อไป

ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2563


กลับ
PRIVATE BANKING