Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

เทรนดอกเบี้ยขาลงที่กลับมาจะส่งผลให้หนี้โลกสูงขึ้นไปอีกหรือไม่?

เทรนดอกเบี้ยขาลงที่กลับมาจะส่งผลให้หนี้โลกสูงขึ้นไปอีกหรือไม่?

​การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดดอกเบี้ยตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ส่งผลให้ระดับหนี้โลกพุ่งตัวขึ้นแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วง 3 ปีหลังจะเริ่มทรงตัวแล้วแต่ก็ยังก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการ คือ 1) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ เนื่องจากการขยายตัวของ GDP โลกจะไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่การสร้างหนี้เพิ่มเติมได้อีก และ 2) ระดับหนี้ปัจจุบันที่สูงอยู่แล้วมีเสถียรภาพหรือไม่ นอกจากนี้ แนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่กลับมาอีกครั้งอาจดันระดับหนี้ให้สูงขึ้นไปอีก

ย้อนกลับไปในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ซึ่งเป็นจุดเปลื่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์หนี้โลก การเข้าช่วยเหลือจากรัฐบาล และธนาคารกลางทั้งทางตรงอย่างการเข้าอุ้มสถาบันการเงินที่กำลังจะล้ม และทางอ้อมอย่างการลดภาษี และการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐฯส่งผลให้หนี้ได้เปลื่ยนมือจากภาคครัวเรือนและภาคธนาคารไปยังรัฐบาล ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ฉวยโอกาสดอกเบี้ยขาลงในการกู้ยืม และรีไฟแนนซ์มากขึ้น โดยหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากระดับ 62% ของ GDP ณ สิ้นปี 2008 เป็น 86% ของ GDP ณ สิ้นปี 2018 ขณะที่หนี้ภาคเอกชนก็เพิ่มจากระดับ 80% ของ GDP ณ สิ้นปี 2008 เป็น 90% ของ GDP ณ สิ้นปี 2018 ความโชคดี คือ โครงสร้างหนี้โลกปัจจุบันส่วนมากเป็นหนี้รัฐบาล แตกต่างจากปี 2008 ที่เป็นหนี้ระดับครัวเรือน ดังนั้นถือว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพได้ ตราบที่การขยายตัวของ GDP โลกยังทำได้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยโลก ซึ่งในอีกนัย หมายถึง รายได้ที่สูงกว่ารายจ่ายนั่นเอง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯทั้ง 1 ปี และ10ปีต่ำกว่าอัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯมานานกว่า 9 ปี รวมถึงจากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 1962 พบว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ 10 ปีที่สูงกว่า GDP สหรัฐฯเกิดขึ้นเพียงแค่ 59% และเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น บทสรุป คือ เรากำลังเผชิญกับ “ความปกติใหม่" หรือ “New Normal" ซึ่งหมายถึงดอกเบี้ยที่ถูกควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ โอกาสการเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะถือว่ายังต่ำ โดยรวมระดับหนี้โลกที่สูงจึงยังมีเสถียรภาพดีอยู่
ข้ามมาที่เสถียรภาพของหนี้ภาคเอกชนที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างเนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน และไอร์แลนด์ที่หนี้เอกชนขยายตัวเร็วกว่าประเทศอื่นก็มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล สะท้อนถึงภาพรวมของสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเอาอยู่ ขณะที่ฝั่งประเทศเกิดใหม่ หลายๆประเทศได้ปรับปรุงสถานะทางการเงินประเทศเรื่อยมา ในแง่ของดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีเพียงอาร์เจนตินา โคลัมเบีย และแอฟริกาใต้ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่า 3.5% ของ GDP ณ เดือนมีนาคม 2019 ในแง่ของความเสี่ยงด้านค่าเงินที่จะกดดันหนี้สกุลเงินต่างประเทศนั้น ประเทศที่มีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สกุลเงินต่างประเทศทั้งหมดที่ต่ำ คือ ตุรกี อาร์เจนตินา และชิลี สวนทางกับไทย รัสเชีย และเกาหลีใต้ที่สถานะทางการเงินดูดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงควรแยกพิจารณาหนี้เอกชนเป็นรายประเทศ

อย่างไรก็ดี ระดับหนี้ที่สูงจนเกินไปย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงอื่นๆตามมา ซึ่งความเสี่ยงสำคัญไม่ใช่ความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ แต่เป็นความเสี่ยงที่ความสามารถในการสร้างหนี้เพิ่มเติมจะลดลง และฉุดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ ดอกเบี้ยโลกที่ปัจจุบันก็ต่ำเตี้ยติดดิน เช่น ญี่ปุ่นและยุโรปที่ดอกเบี้ยนโยบายทุกวันนี้ก็ติดลบแล้ว ช่องว่างในการลดดอกเบี้ยต่อจากนี้ถือว่าจำกัดมาก โอกาสที่ระดับหนี้โลกจะพุ่งแรงเหมือนดัง 10 ปีที่ผ่านมาจึงลดลง เพราะ ประสิทธิภาพของเครื่องมือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฉุดโลกเราขึ้นมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ดังนั้นสิ่งสำคัญต่อจากนี้ที่ท่านนักลงทุนต้องตระหนักถึง คือ

  1. การยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้จะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าให้มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ลักษณะเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้จะค่อยๆขยับเข้าใกล้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมากขึ้นที่อัตราการขยายตัวของ GDP ต่ำ เงินเฟ้อต่ำ
  2. ธนาคารกลางโลกจะถูกกดดันให้คิดใหม่ทำใหม่ สร้างเครื่องมือหรือมาตรการใหม่ๆในการหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะเป็นความท้าทายสำคัญที่ธนาคารกลางโลกจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดว่าสามารถรักษาเสถียรภาพของระดับหนี้ได้อยู่ เพราะ ปัจจุบันหนี้ในระบบส่วนมากก็อยู่ในมือธนาคารกลางเองผ่านการสะสมจากมาตรการ QE โดย FED ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของพันธบัตรสหรัฐฯทั้งหมด ขณะที่ ECB และ BOJ ถือสัดส่วนที่สูงกว่าถึง 30% และ 49% ของพันธบัตรรัฐบาลประเทศตนเองตามลำดับ

ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING