Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​​​

        “เราติดเชื้อ COVID-19 รึยังนะ?” เป็นคำถามในใจที่หลายคนวิตกกังวลในช่วงนี้ เพราะตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ประเทศจีนปลายปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน เราตระหนักได้ว่า COVID-19 ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน โดยหากดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งไม่หยุดรวมทั้งวิธีการแพร่กระจายของเชื้อแล้ว โอกาสการติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวนั้นถือว่าสูงมาก มาตรการที่เกิดขึ้นมารองรับ คือ การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานจากบ้าน (Work from home) รวมถึงมาตรการ "เจ็บแต่จบ" อย่างการปิดเมืองหรือปิดประเทศ (Lockdown) ซึ่งบางประเทศทำได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างชัดเจน ส่วนบางประเทศที่การบริหารจัดการทำได้ไม่ดีพอจึงนำมาสู่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงและยากต่อการจัดการ

เศรษฐกิจป่วยหนักแค่ไหน?
        การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะสร้างความสูญเสียด้านชีวิตครั้งใหญ่แล้วยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หลายธุรกิจประสบปัญหาอย่างหนักจนต้องหยุดชะงัก เช่น ธุรกิจการบิน และ โรงแรม ที่ได้รับผลโดยตรง ส่วนธุรกิจอื่นก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ซึ่งความร้ายแรงคือ ลูกจ้างหลายคนตกงาน และการบริโภคต้องชะลอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกคนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่สิ่งที่เรารับรู้อาจเป็นเพียงแค่ปลายภูเขาน้ำแข็ง เพราะเดิมทีเศรษฐกิจก็อยู่ในช่วงปลายวัฏจักรอยู่แล้ว COVID-19 อาจเป็นเพียงตัวเร่งให้วิกฤติเกิดเร็วขึ้น หลังจากนี้สิ่งที่ตามมาแน่นอนคือ การล้มหายลงไปของบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งยังมีสุขภาพทางการเงินที่ไม่แข็งแรง การผิดนัดชำระหนี้เป็นอีกเรื่องที่จะเกิดขึ้นเพราะดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานนั้นทำให้เกิดการสร้างหนี้ที่เกินจำเป็น การเกิดเศรษฐกิจชะงักงันทำให้รายได้ลดลงขณะที่รายจ่ายยังคงมีอยู่ย่อมส่งผลให้การผิดนัดชำระหนี้เป็นอีกปัญหาที่ตามมา 
        ขณะที่หลายๆ ประเทศประสบปัญหาทางด้านเศริษฐกิจประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเช่นกันจากสถานการณ์ COVID-19 โดยแบงก์ชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบถึง 5.3% สาเหตุมาจากผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ นอกจากนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรงส่งผลต่อการส่งออกให้หดตัวลงด้วยเช่นกัน

โลกการลงทุนก็ป่วยหนักเช่นกัน
        วิกฤติเศรษฐกิจที่ว่ามักจะมาเมื่อเราไม่รู้ตัวนั้นคือเรื่องจริง วิกฤติรอบนี้ก็เช่นกัน สินทรัพย์การลงทุนต่างก็อาการสาหัส สาเหตุที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวลดลงรุนแรง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งมากบ้างน้อยบ้าง แต่โลกการเงินนั้นรับรู้เร็วกว่านั้น ความตื่นตระหนกได้สะท้อนสู่ราคาสินทรัพย์ต่างๆอย่างรวดเร็วและรุนแรง  โดยตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างรุนแรงจนตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้  “Circuit Breaker” ถึง 2 ครั้งในสัปดาห์เดียว โดยหากเทียบกับวิกฤติอื่นอย่าง วิกฤติ  “ต้มยำกุ้ง”  ในปี 2540  และ วิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในอเมริกาแล้ว วิกฤติ COVID-19 อาจยังไม่รุนแรงเท่า หากดูจากผลตอบแทนขาดทุนสูงสุด (Drawdown) ของแต่ละวิกฤติ ตามตาราง

​วิกฤติ
​ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุดของตลาดหุ้นไทย
​ต้มยำกุ้ง
​- 88.5%
​ซับไพร์ม
​- 57.7%
​COVID-19
​- 44.2%
 ที่มา : Bloomberg

        แม้วิกฤติ COVID-19 รอบนี้เบื้องต้นตลาดหุ้นไทยยังปรับลงแรงไม่เท่าวิกฤติครั้งก่อนๆ แต่ยังสรุปเลยไม่ได้เพราะเรายังไม่ได้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ อย่างไรก็ดีสินทรัพย์ประเภทอื่นทั้งตราสารหนี้รวมทั้งทองคำที่จัดเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็ยังถูกเทขายออกมาเช่นกัน เพราะในช่วงที่นักลงทุนทั่วโลกตื่นตกใจ สิ่งที่นักลงทุนเลือกถือคือเงินสด ทำให้โลกการลงทุนมีแต่อยากขายแต่ไม่ค่อยมีคนอยากซื้อ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับลงก็ยิ่งส่งผลต่อความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อนักลงทุน ดังนี้นักลงทุนน่าจะพอเห็นภาพของการลงทุนว่าป่วยหนักแค่ไหน

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่ตรงไหน?
        ถึงวันนี้เราจะยังไม่เห็นแสงแห่งความหวังที่ชัดเจนนัก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แม้มาตรการต่างถูกใช้อย่างเข้มงวดก็ตาม เราคงต้องช่วยกันภาวนาว่าสถานการณ์จะดีขึ้นภายในไตรมาส 2 หรืออย่างน้อยเราควรจะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปได้แล้วในครึ่งปีแรกนี้ ดีไปกว่านั้นหากโลกของเราสามารถคิดค้นวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะจากการแข่งขันผลิตวัคซีนที่เข้มข้นทั้งจากบริษัทยาขนาดใหญ่ในประเทศจีน, สหรัฐฯรวมทั้งประเทศอื่นๆเราก็คงจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
        อย่างไรก็ตามบาดแผลที่ COVID-19 สร้างไว้ต่อระบบเศรษฐกิจอาจต้องใช้การรักษาที่นานกว่านั้นในการฟื้นฟู ส่วนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (V-Shape Recovery) หรือฟื้นอย่างช้าๆ (U-Shape Recovery) ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะลากยาวแค่ไหน สิ่งที่เรารู้ในตอนนี้มาตรการกระตุ้นทั้งการเงินและการคลังทั่วโลกที่ถูกใช้มาแล้วนั้นถือว่าเป็นยาแรงที่น่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เพราะระดับความเข้มข้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่น้อยกว่าวิกฤติซับไพร์มที่สหรัฐฯ ปี 2008 เลยทีเดียว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ กระตุ้นเศรษฐกิจจนเรียกได้ว่า "เทหมดหน้าตัก" ทั้งปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% จนเหลือแค่ระดับ 0-0.25% ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังใช้ยาขนานเดิมที่เคยใช้ได้ผลกับวิกฤติซับไพร์ม คือซื้อพันธบัตรรัฐบาล และ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย (QE) แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่กำหนดวันสิ้นสุด หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็งัดมาตรการกระตุ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

นักลงทุนควรปรับตัวอย่างไรให้รอดวิกฤติ
    • เตรียมสภาพคล่องทางการเงิน โดยปกติเราควรมีสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ที่เรามีไว้ใช้หรือสำรองไว้ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำขั้นต่ำ 3 – 6 เดือน แต่เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นเราควรเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 6 เดือน – 1 ปี เพื่อให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดอีกนานเท่าไร
    • หากเตรียมเงินสำหรับข้อ 1 เรียบร้อยแล้ว มีสภาพคล่องส่วนเกินนำมาวางแผนการลงทุน โดยการลงทุนในภาวะวิกฤติถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะหากเรามีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก่อนเกิดวิกฤติมาถึงปัจจุบันสถานะการลงทุนของเราคงขาดทุนมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ควรมองเป็นโอกาสที่จะได้ลงทุนในต้นทุนที่ถูกลงมามากในหลายๆสินทรัพย์
    • การลงทุนควรเป็นไปอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงต้นทุนในการเข้าซื้อ ควรทยอยลงทุนอย่างระมัดระวังเพราะในภาวะวิกฤติราคาของสินทรัพย์เสี่ยงมักมีความผันผวนสูงมาก ดังนั้นการทยอยลงทุนจะช่วยให้เราได้กระจายความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนของการลงทุนให้สมเหตุสมผล และทำให้เราไม่เครียดจนเกินไปอีกด้วย 

ทุกวิกฤติ...มีโอกาสเสมอ
        ทุกครั้งวิกฤติผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แน่นอนว่าในที่สุด วิกฤติ COVID-19 ก็จะต้องคลี่คลายและเศรษฐกิจก็จะฟื้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวอย่างแข็งแรงอีกครั้ง แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้นไม่มีใครตอบได้ ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดีครับ


กลับ