Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​Switching กองทุน LTF และ RMF สามารถทำได้ ไม่ผิดเงื่อนไขภาษี 


     หลายท่านคงยังไม่ทราบว่าเราสามารถสับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF ได้โดยไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขภาษี การสับเปลี่ยนกองทุนหรือ Switching ไม่ใช่การขายกองทุน แต่เป็นการย้ายการลงทุนระหว่างกองทุน LTF ด้วยกัน หรือระหว่างกองทุน RMF เท่านั้น 
     มีเหตุผลหลายประการในการสับเปลี่ยนกองทุน เนื่องจากนโยบายการลงทุนที่หลากหลายอย่างกองทุน LTF ที่มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นประมาณ 70% และ มีตราสารหนี้เป็นส่วนผสม 30% กองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุน LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ รวมถึงมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก (mid and small capitalization) 
     สำหรับกองทุนประเภท RMF มีความเสี่ยงของกองทุนตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 8 มีนโยบายการลงทุนตั้งแต่ลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนผสม กองทุนหุ้น กองทุนทางเลือก อย่างกองทุนทองคำ น้ำมัน รวมไปถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จากระดับความเสี่ยงที่หลากหลายนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนถึงควรสับเปลี่ยนกองทุน ซึ่งพอจะประเมินได้ ดังนี้  

  1. ผลตอบแทนกองทุนที่ไม่ดี เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันกับบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) อื่น  นักลงทุนที่ซื้อกองทุนแล้วปรากฎว่าผลการดำเนินงานของกองทุนไม่ดี ท่านไม่จำเป็นต้องถือกองทุนนั้นอีกต่อไป สามารถสับเปลี่ยนไปกองทุนจาก LTF หรือ RMF ไปกองทุน อื่นได้ อย่างไรก็ตามการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ควรดูผลการบริหารกองทุนในระยะยาว 2-3 ปีขึ้นไป เพื่อตัดสินใจสับเปลี่ยนกองทุนเนื่องจากกองทุนประเภทเดียวกันในบางช่วงอาจมีผลตอบแทนที่ดีหรือไม่ดีต่างกัน เราไม่ได้หากองทุนที่ผลตอบแทนดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ใน 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่เรามองหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวมากกว่า 
  2. ระดับความเสี่ยงของท่านเปลี่ยนหรือใกล้ถึงเป้าหมายการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่เริ่มลงทุนจะเป็นกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้น้อย และ ยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุน ดังนั้นท่านควรเลือกกองทุน RMF ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้ โดยกองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 1-4  อย่างไรก็ตามระดับความเสี่ยงของบุคคลสามารถเปลี่ยนได้ หากท่านคุ้นเคยกับการลงทุนแล้ว ท่านสามารถเพิ่มความเสี่ยงโดยสามารถลงทุนในกองทุนที่มีตราสารทุนผสมได้บ้าง  หรือ ลงทุนในกองทุนอื่นๆที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้นได้  ในทางกลับกันนักลงทุนควรลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในกรณีที่เวลาการออมใกล้ถึงเป้าหมาย สำหรับการลงทุนในกองทุน RMF ควรปรับลดความเสี่ยงของการลงทุนลงให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในเวลาที่ใกล้เกษียณ ท่านลองนึกภาพหากท่านใกล้เกษียณแล้วกองทุน RMF ของท่านยังอยู่ในกองทุนตราสารทุนเป็นส่วนใหญ่ หากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ เงินที่ออมไว้เพื่อการเกษียณมีมูลค่าลดลงทำให้เป้าหมายที่ท่านตั้งไว้อาจไม่เป็นไปตามที่คาด ดังนั้นการปรับพอร์ตโดยการสับเปลี่ยนกองทุนสามารถช่วยให้ท่านไปถึงเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย 
  3. วงจรเศรษฐกิจหรือการจับจังหวะการลงทุน (Market Timing) การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF เป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นมูลค่าของเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับวงจรเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวนักลงทุนควรเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยหรือเป็นขาลง ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะลดลง นักลงทุนควรสับเปลี่ยนกองทุนไปลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อรอเวลาเข้าลงทุนในสภาวะตลาดขาขึ้นในอนาคต การจับจังหวะสับเปลี่ยนกองทุน RMF จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนและลดการขาดทุนของพอร์ตลงทุน สำหรับกองทุน LTF ก็สามารถสับเปลี่ยนในกรณีนี้ได้ด้วย โดยหากเศรษฐกิจมีทิศทางเป็นขาลง ควรสับเปลี่ยนกองทุน LTF ที่มีหุ้นในสัดส่วนที่สูง มาที่กองทุน LTF ที่มีตราสารหนี้ผสมอยู่ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการท่านลงได้บ้าง  

     การสับเปลี่ยนกองทุนสามารถสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน LTF ด้วยกันเอง หรือระหว่างกองทุน RMF เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการทำธุรกรรมแบบถูกเงื่อนไข  การสับเปลี่ยนกองทุนภายใน บลจ. เดียวกันส่วนใหญ่ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตามการสับเปลี่ยนกองทุนจาก บลจ. หนึงไปยังอีกบลจ. หนึง อาจถูกเก็บค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนกองทุน
     การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (Switching) จะช่วยเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น หรือ ช่วยลดความเสี่ยงที่ท่านจะพลาดเป้าหมายการลงทุน อย่างไรก็ตามการสับเปลี่ยนการลงทุนไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ อย่างทุกๆ 1 เดือน หรือ 3 เดือน เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ควรลงทุนระยะยาว การจัดพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง และ การสับเปลี่ยนกองทุนในระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มผลตอบแทน และ ลดความเสี่ยงที่แผนการลงทุนของท่านจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย. 

ธนันต์พร จรรย์โกมล นักวางแผนการเงิน CFP®
ฝ่ายธุรกิจบริหารทรัพย์กลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษ ธนาคารกสิกรไทย​
กลับ