เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น การชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นที่สูง และการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในระยะสั้น การลงทุนในกองทุนหุ้นจีนจึงยังมีความเสี่ยงสูงในระยะสั้นถึงปานกลาง แต่ก็อาจมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาวหากนักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสม
สถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว
เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากหลายปัจจัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งภาคอุตสาหกรรม การเงิน และการบริโภคภายในประเทศ โดย 6 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ดังนี้
1. ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์
ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอด แต่ขณะนี้กำลังเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างหนัก บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น Evergrande มีปัญหาหนี้สินสูงและไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ลดลง ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการเงินและการบริโภคในภาพรวม
2. การควบคุมของรัฐบาลต่อธุรกิจเอกชน
รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมธุรกิจเอกชนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีและการศึกษา ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน เช่น Alibaba และ Tencent ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายและการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ ทำให้มีโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจที่ด้อยลงและลดการลงทุนจากต่างชาติที่อาจเข้ามาลงทุนเพื่อหวังผลกำไรจากตลาดจีน
3. ปัญหาหนี้สิน
จีนกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่สูง โดยเฉพาะในระดับรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทเอกชน การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่มากเกินไปทำให้รัฐบาลต้องคุมเข้มนโยบายการเงินและลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการกู้ยืม จึงส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน
4. การชะลอตัวของการส่งออก
การส่งออกเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจจีน แต่ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 การฟื้นตัวของการส่งออกกลับไม่เป็นไปตามคาด นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศของจีนเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุปสงค์สินค้าจีนในตลาดโลก
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการตั้งกำแพงภาษีและข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าจีนเกิดขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลก ทำให้จีนสามารถผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำมากจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น ต้นทุนค่าแรงที่ยังถูก เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย (Economy of Scale) เนื่องจากสามารถผลิตได้ปริมาณมาก และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้สินค้าจีนมีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่น ๆ
หลายประเทศมองว่าสินค้าจีนที่มีราคาถูกอาจเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของตน เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าจากจีนอาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดและทำให้บริษัทภายในประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นเพื่อปกป้องเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง หลายประเทศเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย จึงได้ตั้งกำแพงภาษีหรือใช้มาตรการกีดกันการค้ากับจีน
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมีความสำคัญในฐานะหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ มักมีความตึงเครียดและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
5. ปัญหาการว่างงาน
ตัวเลขอัตราการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายในตลาดแรงงานและการขาดโอกาสการจ้างงานใหม่ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลดจำนวนตำแหน่งงานในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคเทคโนโลยี รวมถึงการลดการจ้างงานในบริษัทต่างชาติที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
6. นโยบาย Zero-COVID และผลกระทบหลัง COVID-19
แม้ว่าจีนจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 แต่การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในอดีตส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ แม้จะมีการฟื้นตัวหลังจากยกเลิกมาตรการ แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในภาวะซบเซา
จะเห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเกิดจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังมีโอกาสในการฟื้นตัว แต่จะต้องปรับตัวและพัฒนานโยบายเพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก
นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน
ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และอีกหลากหลายมาตรการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูกลุ่มที่ประสบปัญหา โดยสามารถแบ่งมาตรการต่าง ๆ ออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่
1. นโยบายการเงิน
-
ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ลดอัตราดอกเบี้ย Reverse Repo ระยะ 7 วัน ลงจาก 1.7% เหลือ 1.5%
-
Reverse Repo ระยะ 14 วัน จาก 1.95% เหลือ 1.65%
-
ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะกลาง ลงจาก 2.3% เหลือ 2.0%
-
ลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio) ลง 0.5% ซึ่งเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการเงินประมาณ 1 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อและลดต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคเอกชน
กราฟ : ดัชนีที่สำคัญของจีน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC)
ที่มา Bloomberg ณ วันที่ 19 ต.ค. 2024
จากกราฟจะเห็นว่าช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าสู่เทศกาลหยุดยาวของจีน (Golden Week) ตลาดหุ้นตอบรับมาตรการด้านนโยบายการเงินโดยปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก่อนความผันผวนในช่วงถัดมาหลังมาตรการที่ประกาศออกมาเพิ่มเติม ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นได้
2. นโยบายการคลัง
-
ออกพันธบัตรพิเศษเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ธนาคารรัฐวิสาหกิจและชดเชยเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1 Capital)
-
เพิ่มโควตาหนี้ให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม เพื่อใช้ชำระหนี้เก่าและลดภาระหนี้
3. ตลาดอสังหาริมทรัพย์
-
การอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาในการขายขายไม่ออก รวมถึงที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์
-
ลดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำ สำหรับซื้อบ้านหลังที่สอง จาก 25% เหลือ 15%
4. ตลาดหลักทรัพย์
-
การออกกองทุนพิเศษสำหรับตลาดทุน โดยมีการจัดตั้ง Swap Program เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และประกัน เพิ่มสภาพคล่องจากธนาคารกลางเพื่อซื้อหุ้น
-
การพิจารณาจัดตั้ง Stabilization Fund เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจในตลาดและเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน
5. ภาคการบริโภค
-
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนองสำหรับสินเชื่อบ้านที่มีอยู่ให้ต่ำลง เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้กับครัวเรือนและกระตุ้นการบริโภค เพิ่มโอกาสให้ผู้กู้สามารถออมเงินหรือใช้จ่ายได้มากขึ้น
-
การแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางราว 4.74 ล้านคนทั่วประเทศ งบประมาณ 154,700 ล้านหยวน
-
การสนับสนุนทางการเงินสำหรับนักศึกษา โดยการเพิ่มจำนวนและขนาดของทุนการศึกษา และเพิ่มวงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
มาตรการเหล่านี้มุ่งฟื้นฟูตลาดหุ้น เสริมสภาพคล่องให้กับธนาคาร และเพิ่มการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะการลดภาระดอกเบี้ยเพื่อช่วยให้ครัวเรือนสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งในแง่ของการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ยังไม่เห็นผลในระยะสั้นได้เท่าที่ควรจะเป็น และยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคภายในและภายนอกที่ซับซ้อน
โอกาสในการลงทุนกองทุนหุ้นจีน
แม้เศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความท้าทาย แต่จีนยังคงมีศักยภาพมากพอที่จะเติบโตได้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการปรับตัวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การขยายตัวเข้าไปในตลาดโลก และยังมีอีกหลายปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวได้ดีกว่าในอดีต ได้แก่
1. ระดับราคา (Valuation) ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี แม้จะมีการปรับขึ้นมาอย่างมากในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านขาลง (downside risk) น้อยลง
กราฟ : ค่าเฉลี่ย P/E ย้อนหลัง 15 ปี ของดัชนีหุ้นจีน MSCI China Index
ที่มา Bloomberg ณ วันที่ 18 ต.ค. 2024
กราฟ : ค่าเฉลี่ย P/E ย้อนหลัง 15 ปี ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ใน MSCI China Index
ที่มา : Khow the Market Q4/2024, J.P. Morgan Asset Management และ KAsset
2. แนวโน้มการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น
กราฟเปรียบเทียบปริมาณเงินออมสะสมของครัวเรือนจีนตั้งแต่ปี 2019 - เดือนสิ้นเดือนกันยายน 2024
ที่มา Bloomberg ณ วันที่ 17 ต.ค. 2024
จากข้อมูลที่แสดงในกราฟ จะเห็นได้ว่าอัตราการออมของครัวเรือนจีนเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงวิกฤต ทำให้ประชาชนมีเงินออมสะสมเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นแนวโน้มที่ประชาชนจะเริ่มนำเงินเหล่านี้มาใช้จ่ายมากขึ้นในปี 2024 ด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ
-
ความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะสูงขึ้น ทำให้กล้าตัดสินใจใช้จ่ายมากขึ้น
-
การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น การสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
3. ศักยภาพในการกลับมาของเม็ดเงินลงทุนสถาบันเมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว
กราฟ สัดส่วนหุ้นจีนในกอง Active Fund ทั่วโลก
ที่มา Goldman Sachs
จากข้อมูลในกราฟแสดงถึงสัดส่วนการจัดสรรเงินลงทุนในจีนของกองทุนที่มีนโยบายเชิงรุกทั่วโลก (Active Funds) ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2013 ถึงสิงหาคม 2024 โดยในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเติบโต กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนสูงถึง 15% (Overweight) และเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติ สัดส่วนการจัดสรรเงินลงทุนในจีนของกองทุนเชิงรุกทั่วโลกอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปี (Underweight) อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจจีนเริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัว กองทุนเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนอีกครั้ง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับราคาหุ้นและดัชนีตลาด
ความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นจีน
การลงทุนในหุ้นจีนยังมีความเสี่ยงหลายด้านที่ต้องพิจารณา เช่น
-
ความเสี่ยงทางการเมืองและกฎหมาย (Political and Regulatory Risk) : รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจ การควบคุมและการปรับกฎระเบียบของภาครัฐอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทหรืออุตสาหกรรมบางประเภท เช่น กรณีการควบคุมบริษัทเทคโนโลยี หรือการปรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาคพลังงาน
-
ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) : ความตึงเครียดระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ในด้านการค้า เทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะหุ้นจีนที่จดทะเบียนในต่างประเทศ (เช่น ADR ในสหรัฐฯ) อาจเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกถอนออกจากตลาดแลกเปลี่ยน
-
ความเสี่ยงด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Natural and Environmental Risk) : ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจในบางภูมิภาคหรืออุตสาหกรรม เช่น การเกษตร และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
คำแนะนำการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน
การลงทุนในกองทุนหุ้นจีนมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่อาจมีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศจีน ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงและการจัดสรรพอร์ตการลงทุนตามสัดส่วนอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
-
สำหรับผู้ที่ถือกองทุนหุ้นจีนในสัดส่วนที่สูง
หากคุณมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนสูง (เกิน 30% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด) แนะนำให้ใช้โอกาสที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมาเพื่อ ทยอยลดสัดส่วนการลงทุน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสัดส่วนที่แนะนำคือ ไม่ควรเกิน 30% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ซึ่งการลดสัดส่วนนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดหุ้นจีนที่มีความผันผวนสูง
-
สำหรับผู้ถือกองทุนหุ้นจีนอยู่ แต่มีสัดส่วนการลงทุนไม่มาก
หากคุณเป็นผู้ลงทุนที่มีสัดส่วนในกองทุนหุ้นจีนที่ยังไม่เกิน 30% และยังต้องการลงทุนในหุ้นจีนต่อไป คุณสามารถพิจารณาเพิ่มการลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนโดยในภาพรวม กล่าวคือไม่ลงทุนเพิ่มจนเกินสัดส่วนที่เราแนะนำ? และควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อการเติบโตระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนในระยะสั้น
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทุนในกองทุนหุ้นจีน แนะนำให้พิจารณาหาจังหวะในการเข้าลงทุน โดยอาจติดตามภาวะตลาดและข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนสูง การเข้าลงทุนในจังหวะที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
กองทุนตระกูล K-CHINA
กองทุน
|
ซื้อกองทุนผ่าน K PLUS
|
K-CHINA-A(D)
|
|
K-CHINA-A(A)
|
|
K-CHINA-SSF
|
|
KCHINARMF
|
|
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
ประเด็นร้อน: แบงค์ชาติจีนกระตุ้นจัดหนัก ส่งหุ้นจีนทะยานฟ้า
คลิก
-
ประเด็นร้อน : รัฐบาลจีนจัดหนักเพิ่ม แจกเงินกลุ่มเปราะบางรับหยุดยาว
คลิก
บทความอื่น ๆ ประจำเดือน
| ULTIMATE LEISURE
|
| THE EXPLORER
|
| SPECIAL PRIVILEGE สิทธิพิเศษจากแบรนด์ชั้นนำประจำเดือนพฤศจิกายน
|