คาดการณ์โอกาสฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก กับการปรับรูปแบบธุรกิจภายใต้การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่
การค้าปลีกเอสเอ็มอีในปี 64 ยังยากลำบากอย่างต่อเนื่อง
การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น และ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกในปี 2564 นี้น่าจะยังยากลำบากอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการขยายกรอบมาตรการการกระตุ้นกำลังซื้อจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 จากภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง แต่ด้วยความที่ผู้บริโภคยังมีความไม่มั่นใจในรายได้และอาชีพงานในอนาคตทำให้การใช้จ่ายยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง
สถานการณ์ค้าปลีกปี 64 และ ปัจจัยที่น่าจะกระทบการฟื้นตัว
เปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ธุรกิจค้าปลีกหดตัวร้อยละ 1.8 สำหรับปี 64 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจค้าปลีกอาจปรับตัวอยู่ในกรอบร้อยละ -2.0 ถึง 1.5 ขึ้นกับการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศ ทั้งนี้การค้าปลีกเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้มีโอกาสการฟื้นตัวที่ช้ากว่าภาคอื่น ๆ อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยทั้งการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจประมงที่ได้รับผลกระทบด้านราคา และ การขาดแคลนแรงงาน จึงยังต้องติดตามมาตรการการกระตุ้นจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดต่อไป
ธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล วิตามินและอาหารเสริม เครื่องสำอาง และ สินค้าไอทีบางกลุ่มอย่างสมาร์ทโฟน คาดการณ์ว่ายังคงทรงตัว หรือ มีโอกาสฟื้นตัวได้เล็กน้อยจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และ การกระตุ้นยอดซื้อจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมไปถึงร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ที่อาจได้รับคำสั่งซื้อบางส่วนมาจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างมาช่วยหนุนรายได้ได้บ้าง
ในขณะที่ร้านค้าปลีกกลุ่มเน้นขายสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และ ของตกแต่งบ้าน น่าจะฟื้นตัวได้ช้า ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อันเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายของตัวเอง
ปรับรูปแบบการทำธุรกิจการค้าปลีก ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภค
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรเร่งปรับตัว และ หลีกเลี่ยงการลงทุนเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามจากวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้เป็นการเร่งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวเข้าสู่ตลาด E-Commerce เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ได้ พร้อม ๆ กับการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยที่เป้นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานของสินค้าและบริการ