Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​​​​Online สยบความไกล 
เจาะขุมทรัพย์ใหม่ตลาดหมีขาว “รัสเซีย”

        รัสเซีย ถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีความโดดเด่นมากสุดในประเทศ เครือรัฐเอกราช (CIS) ทั้งในแง่ของขนาดประเทศ ขนาดประชากร ความหลากหลายของพฤติกรรมการบริโภค และ ยังเป็นศูนย์กลางการกระจาย สินค้าของกลุ่มประเทศ CIS อีกด้วย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากนักธุรกิจทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เอสเอ็มอีไทย ที่อยากจะเข้าไปคว้าโอกาสในตลาดใหม่แห่งนี้

กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ประกอบด้วย 10 ประเทศ รวมประชากรกว่า 245 ล้านคน
​อาร์เมเนีย
​อาเซอร์ไบจาน
​เบลารุส
​คาซัคสถาน
​มอลโดวา
​รัสเซีย
​ทาจิกิสถาน
​อุซเบกิสถาน
​เติร์กเมนิสถาน
​คีร์กิซสถาน

เจาะลึก! พฤติกรรมการบริโภค ชาวหมีขาว
สำหรับเอสเอ็มอีไทยที่อยากจะเจาะเข้าสู่ตลาดรัสเซียนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ คือ รัสเซียเป็นตลาดที่มีทั้งความท้าทาย และ โอกาสรออยู่ โดยปัจจุบันผู้บริโภครัสเซีย มีกำลังซื้อสูงที่สุด 11,600 ดอลลาร์ฯ ต่อคนต่อปี และ พฤติกรรมการบริโภคของชาวรัสเซียยังคงคุ้นเคยชินกับการซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านค้าปลีกเป็นหลัก โดยผู้บริโภคราว 46% ยังคงจับจ่ายผ่านร้านค้าปลีกดังเดิม ส่วนที่เหลือเริ่มหันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีสาขากระจายตัวอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น
        สำหรับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ถือได้ว่าเป็นช่องทางกระจายสินค้าสำคัญสำหรับสินค้าต่างประเทศ ซึ่งมีสินค้าไทยไปวางจำหน่ายบ้างแล้ว แม้ในทุกวันนี้สินค้าไทยจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการที่ชาวรัสเซียมาเที่ยวไทย และ ซื้อสินค้าไทยกลับไปเป็นของฝาก แต่ด้วยสินค้าไทยยังมีราคาค่อนข้างสูงทำให้การวางจำหน่ายสินค้าจะอยู่ในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ตามเมืองใหญ่ในฝั่งตะวันตกซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และ เป็นเมืองที่มีสินค้าที่น่าจะยังรุกทำตลาดได้ โดยเฉพาะกรุงมอสโก เมืองหลวงที่มีประชากรถึง 11.5 ล้านคน ตามมาด้วยเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมีประชากร 5.2 ล้านคน และ เมืองที่มีประชากรไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เช่น โนโวชีบีสค์ เยคาเตรินบุร์ก นิตนีนอฟโกรอด ซามารา คาซาน ออมสค์ เชเลียบินสต์ และ รอสตอฟนาโดนู

​ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่สำคัญในรัสเซียประกอบด้วย แบรนด์ Magnit มีสาขาอยู่มากที่สุด และ กระจายตัวทั่วประเทศกว่า 13,000 สาขา ตามมาด้วย X5 Retail , Dixy Group , Lenta และ O’Key Group ตามลำดับ

ออนไลน์ขุมทรัพย์ตลาดรัสเซีย
นอกจากร้านค้าในรูปแบบหน้าร้านแล้ว ช่องทางการค้าออนไลน์ของรัสเซียก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยชาวรัสเซียอย่างน้อย 50 ล้านคน มีการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ และ ครึ่งหนึ่งนิยมซื้อสินค้าต่างประเทศมากกว่าสินค้าในประเทศ จึงเป็นโอกาสสำคัญของสินค้าไทยในการจับตลาดกลุ่มนี้
สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ของชาวรัสเซีย จะให้ความสำคัญกับแบรนด์ และ คุณภาพสินค้าเป็นลำดับแรก และ มีราคาสมเหตุสมผล รวมทั้งให้ความสำคัญกับโปรโมชั่นที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับสินค้าร้านอื่น ๆ ซึ่งช่องทางการทำตลาดออนไลน์ของสินค้าเอสเอ็มอีไทย สามารถทำได้ 2 วิธี

  1. การเปิดธุรกิจบนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในประเทศรัสเซีย : เช่น Wildberrier.ru และ Ozon.ru ซึ่งจะมีค่าบริการในการวางสินค้า 30 – 35% ของราคาสินค้า โดยผู้ประกอบการควรหาพันธมิตรชาวรัสเซียเพื่อช่วยจดทะเบียนประกอบธุรกิจ และ ช่วยสื่อสารด้วยภาษารัสเซีย รวมถึงการทำโปรโมชั่น และ การรับชำระเงินปลายทางที่ยังมีความจำเป็น
  2. การเปิดธุรกิจบนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่างประเทศ : โดยเฉพาะ AliExpress.ru ที่ผู้บริโภคชาวรัสเซียนิยมใช้อย่างมาก ซึ่งมีค่าบริการอยู่ที่ 5 – 8% ขึ้นอยู่กั​บประเภทสินค้า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง คือ การตั้งราคา เพราะ ผู้บริโภคจะคาดหวังว่าการซื้อผ่านแพลคฟอร์มต่างประเทศจะมีราคาต่ำกว่าหน้าร้าน และ ต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกันของรัสเซีย 

        นอกจากนี้ การทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก หรือ มีตัวตนบนสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ เป็นอีกสิ่งที่ช่วยสร้างการรับรู้ และ ความเชื่อมมั่นให้ผู้บริโภคชาวรัสเซียได้ เช่น การมีตัวตน หรือ สามารถสืบค้นสินค้าไทยได้บนเว็บไซต์รัสเซีย Yandex.ru ซึ่งก็คือ Search Engine ของรัสเซีย (คล้าย Google) และ หากสินค้าต้องการจับตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่ ควรทำโปรโมชั่นผ่านสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะเป็น YouTube , Facebook , Instagram แต่หากจะโน้มน้าวใจชาวรัสเซียได้ ก็ควรจะเข้าถึงสื่อโซเชียลของรัสเซียโดยเฉพาะอย่าง Vkontakte ที่มีผู้ใช้งานอยู่กว่า 500 ล้านบัญชี หรือ Odnoklassniki ที่มีผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านบัญชี

เตรียมพร้อมก่อนเปิดตลาดใหม่
สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อออกสู่ตลาดรัสเซียของเอสเอ็มอีไทย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาคู่ค้ามาช่วยทำตลาด เพราะ ต้องสื่อสารเป็นภาษารัสเซียได้ และ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังรัสเซียที่ค่อนข้างสูงด้วยระยะทางที่ไกล ตลอดจนการเตรียมพร้อมด้านเอกสารนำเข้า และ พิธีการด้านศุลกากรให้ถูกต้อง เพราะ แต่ละสินค้ามีรายละเอียดต่างกัน โดยเฉพาะสินค้าอาหารบางประเภท จะนำเข้าได้ต้องมีเอกสารรับรองการตรวจสอบโรงงานในไทยด้วย ดังนั้น ระยะเริ่มแรก ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย เพื่อทดลองตลาด และ สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคไปในตัว โดยติดต่อกรมการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในฝั่งไทยเป็นหลัก และ สามารถติดต่อประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ได้เช่นกัน
ยุคนี้เรื่องของระยะทางอาจไม่ใช่อุปสรรคที่จะมาปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจอีกต่อไป เช่นเดียวกับรัสเซีย ถึงจะเป็นตลาดอยู่ไกล แต่ก็มีโลกออนไลน์ที่จะเชื่อมโอกาสให้เอสเอ็มอีไทย ก้าวไปถึงได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

DID YOU KNOW?
  • รัสเซีย เป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดใน CIS โดยมีประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ดมากถึง 76% ของประชากรในปี 2562 โดยเข้าผ่าน คอมพิวเตอร์ และ สมาร์ตโฟน เป็นหลักคิดเป็น
  • B2C เป็นรูปแบบการค้าออนไลน์ที่นิยมที่สุด รองลงมาคือ C2C  (ในปี 2561)
  • สินค้าออนไลน์ที่นิยมในแฟลตฟอร์มของรัสเซีย ได้แก่ แฟชั่นเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอางค์ บัตรคอนเสิร์ตหรืองานแสดง เครื่องใช้ไฟฟ้า และ หนังสือ เพลง สื่อสิ่งพิมพ์
  • สินค้าออนไลน์ที่นิยมในแพลตฟอร์มต่างประเทศ ได้แก่ แฟชั่นเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์สำนักงาน ของแต่งบ้าน อาหาร หนังสือ น้ำหอมและเครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร (ยาดม ยาหม่อง ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม) รวมไปถึง ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์
  • รูปแบบการชำระเงินที่นิยมของผู้บรอโภคชาวรัสเซีย เป็นบัตรเดบิตมากที่สุด รองลงมาคือ e-Wallet ชำระเงินปลายทาง โอนเงินผ่านธนาคาร สุดท้ายคือ บัตรเครดิต


​​ท่านสามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจในการบริหารธุรกิจ และ การเงินได้ที่ K SME INSPIRED นิตยสารรายเดือนจากธนาคารกสิกรไทยได้ ที่นี่​​ ค่ะ



กลับ