สหรัฐฯ สั่งคุมเข้มนโยบายการเงิน ท้าทายการเติบโตเศรษฐกิจจีน ต้องจับตาผลกระทบต่อไทย
สหรัฐฯ คุมเข้มนโยบายการเงิน
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น แม้เศรษฐกิจในตอนนี้ดูเป็นไปในทิศทางของการเติบโตจนมีประกาศจะปรับลดงบดุลลงนั้น แต่สถานการณ์เงินเฟ้อภายในยังคงเร่งสูงอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 2 ครั้ง จึงทำให้คาดการณ์ว่าการคุมเข้มด้านนโยบายนี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และ อัตราดอกเบี้ยตอนสิ้นปีจะอยู่ที่ 2.75 – 3.000%
จีนกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง
ในปัจจุบันประเทศจีน กำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งส่งผลให้นโยบาย COVID เป็นศูนย์ และ มาตรการล็อกดาวน์ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง โดยเฉพาะในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ และ เมืองท่าใหญ่อย่างปักกิ่ง จึงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างโดยสะท้อนผ่านดัชนี PMI ดังนี้
- PMI ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 47.4
- PMI ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 41.9
โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงมาติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนนโยบาย แม้จะทางองค์กรอนามัยโลกจะออกมาระบุว่าวิธีของทางการจีนเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืนก็ตาม
ผลกระทบจาก จีนและสหรัฐฯ มีนโยบายการเงินสวนทางกัน
อย่างที่ทุก ๆ ท่านได้ทราบ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของจีน ที่วิ่งสวนทางกับสหรัฐฯ แม้ว่าด้านหนึ่งจะช่วยพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็ส่งผลให้เกิดความต่างระหว่างดอกเบี้ยขึ้น ดังจะเห็นได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของทั้งสองประเทศที่สร้างผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน เช่น
- ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดเป็นวิกฤตค่าเงิน และ ถูกโจมตีทางค่าเงินได้
- ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เกิดภาวะเงินลงทุนไหลออกนอกประเทศ
- เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ท่ามกลางโจทย์เชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ภาคธุรกิจ หรือ โครงสร้างประชากร ซึ่งเดิมคอยฉุดการเติบโตอยู่แล้ว ให้เติบโตได้ช้าลงไปอีก
ดังนั้นในระยะข้างหน้าปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีน ซึ่งจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ 5.5% แต่ปัจจุบันทาง Bloomberg Consensus ได้ลดการคาดการณ์ตัวเลข GDP ไว้เหลือที่ 4.9% เท่านั้น
* เงินหยวนของจีนแบ่งออกเป็น offshore ที่เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และ onshore ที่ควบคุมโดย PBOC ซึ่งจะมีการกำหนดค่ากลางประจำวันและปรับเพิ่มขึ้นลดลงได้ไม่เกิน 2%
|
ผสานหลายนโยบายคุมเศรษฐกิจจีน
นอกจากจะดำเนินนโยบายที่ต่างออกไปแล้ว จีนเองมีความซับซ้อนในการดูแลภาคเศรษฐกิจ ต่างจากทางสหรัฐฯ ที่ใช้การอ้างอิงจาก “อัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate” เป็นหลัก โดยที่ทางประเทศจีนนั้นมีนโยบายที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น
- ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) ตั้งแต่ต้นปีมีการปรับลด LPR ประเภท 1 ปี (ภาคเอกชน) และ LRP ประเภท 5 ปี (ภาคครัวเรือน และ สินเชื่อเพื่อการกู้จำนอง) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ เพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน
- การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ
- การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เมื่อเดือนเมษายน 2565 ได้ปรับลด RRR นี้ลงที่ 0.25% สำหรับธนาคารทุกแห่ง และ 0.5 สำหรับธนาคารขนาดเล็กเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องอีกทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าจีนมีนโยบายทางการเงินที่หลากหลาย กำหนดค่ากลางของเงินหยวนได้ และ ความสามารถในการดำเนินการทางการเงินก็อยู่ในระดับสูง โดยดูจากการที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย
แต่หลังจากนี้การใช้นโยบายจะมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากมีแรงกดดันจากทางสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายเชิงรุกแบบต่อเนื่อง ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่าประเทศจีนจะยังคงผ่อนคลายนโยบายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป
การเติบโตของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบตรงถึงไทย
ข้อสรุปสำหรับประเทศไทย ซึ่งถือได้เป็นมีประเทศจีนเป็นหนึ่งคู่ค้าหลัก อาจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยแบ่งออกเป็น 3 มุม ดังนี้
- ด้านค่าเงิน : เนื่องจากค่าเงินหยวนอ่อนลงทำให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนตามไปด้วยรวมถึงไทย เพราะถือว่าค่าเงินหยวนเป็นค่าเงินที่นำในภูมิภาคนี้ ก็เป็นตัวกดดันให้เงินบาทเช่นกัน และจะเห็นว่าค่าเงินบาทในขณะนี้ปรับค่าอ่อนลง
- ด้านการส่งออก : โดยเฉพาะส่งออกยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของไทย โดยคาดการณ์ว่า ภาพการส่งออกทั้งปีนี้ จะเติบโตได้ที่ 3.4 – 3.7%
- ด้านการลงทุน : โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาฯ เพราะกำลังซื้อจากนักลงทุนจีนและฮ่องกงในไทยลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศจีน และ การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของสหรัฐฯ อาจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ วางแผนการกระจายพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม