Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​        BRICS เป็นอักษรย่อที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ ซึ่งเรียกได้ว่ามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกมากขึ้นจากการที่มีขนาดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้นั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        แม้ว่าขนาดการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของกลุ่ม BRICS จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 26 ของ GDP โลก ตามหลังผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ (G7) ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 43.7 ของ GDP โลก หากแต่จำนวนประชากรของประเทศในกลุ่ม BRICS นั้นครอบคลุมจำนวนประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก หรือ ร้อยละ 42 เลยทีเดียว นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2566 ประเทศในกลุ่ม BRICS ได้มีการประชุมหารือร่วมกันในหลายมิติ ซึ่งมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้



    • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และ สหรัฐฯ - จีน ทำให้ BRICS มีมุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์ในฝั่งประเทศเกิดใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การแบ่งแยกโลกออกเป็นสองขั้ว และ หาแนวทางที่จะลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ กับชาติตะวันตกลง
    • การผลักดันให้สมาชิกหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงิน และ ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ฯ โดยแผนงานนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่เกิดการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สัดส่วนการใช้เงินหยวนในการชำระเงินเพื่อการค้า และ บริการระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความสัมพันธ์ด้านการค้า และ การลงทุนภายในกลุ่ม BRICS จากช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นด้วย กลับกันความสัมพันธ์กับชาติฝั่งตะวันตกกลับลดน้อยลง



    • สนับสนุนเงินกู้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ การสนับสนุนด้านการเงินฉุกเฉินในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจผ่านการเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) หรือ BRICS Bank และ ข้อตกลงกองทุนสำรองฉุกเฉิน (CRA) ที่มีบทบาทใกล้เคียงกับ World Bank และ IMF ตามลำดับ
    • การพิจารณารับสมาชิกใหม่เป็นวาระสำคัญ ได้มีการประกาศรับเพิ่มเติมแล้ว 6 ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และ อาร์เจนตินา โดยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และ ยังมีอีกหลายประเทศสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกจำนวน 40 ประเทศ โดย 23 ประเทศได้มีการสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว 

        โดยวัตถุประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ BRICS คือ แต่ละประเทศต้องการรักษาสมดุลของขั้นอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ และ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่ได้แสดงท่าทีสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น อยู่ระหว่างรอทางการพิจารณา



        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า BRICS นั้นเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจแบบกว้าง ไม่มีข้อกำหนดการเปิดตลาด และ สิทธิประโยชน์เหมือน FTA ทำให้เมื่อไทยเข้าร่วมกลุ่มจะถือเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกแง่มุม สามารถกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปทั่วโลก เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และ นักลงทุนให้มีทางเลือกในการเข้าถึงตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า และ การลงทุน โดยจะมีทางเลือกในการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับประเทศสมาชิก รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงเม็ดเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจในอีกฝั่งขั้วอำนาจของโลก ปัจจุบันกลุ่ม BRICS นี้มีบทบาทต่อการค้าของไทยถึงร้อยละ 22.8 ของการค้ารวมไทยทั้งหมด ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G7) ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 26.2 ของการค้ารวมไทย 

        อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสโลกที่มีการแบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสองขั้วที่ชัดเจนมากขึ้น โดย BRICS เป็นขั้วตรงข้ามของชาติตะวันตก ดังนั้น ทางการไทยจะต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงใหม่ ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อคู่ค้าในฝั่งตะวันตก และ อาจนำมาซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้ในอนาคต ผู้ประกอบการ และ นักลงทุนไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ประกอบกับดำเนินแผนทางธุรกิจและการลงทุนอย่างระมัดระวัง

​​


กลับ