เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเล็ก แถมบางคู่แต่งงานไม่มีบุตร ไหนจะผู้สูงอายุ และคนโสด สัตว์เลี้ยงจึงมาเติมเต็มชีวิตของผู้คนมากขึ้น แต่ในปัจจุบันเราไม่ได้เลี้ยงสัตว์แบบ Pet Lover ที่แค่รักหรืออยากมีสัตว์เลี้ยง แต่กลับฟูมฟักเลี้ยงดูแบบ Pet Parent ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงยอมควักกระเป๋าจ่าย เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดันมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจสัตว์เลี้ยงโตกว่า 3 หมื่นล้านบาทและยังเฟื่องฟูได้อีกเป็นทศวรรษ โดยแบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์มีสัดส่วนใหญ่สุด 45% ตามมาด้วยธุรกิจดูแลสุขภาพสัตว์ เช่น โรงพยาบาล คลินิก บริการอื่นๆ มีสัดส่วน 32% และธุรกิจสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อผ้า ของเล่น ซึ่งมีสัดส่วน 23% ทั้งนี้ 5 ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต ก็คือ
1. Aging Population นับวันคนโสดและคนสูงวัยมีมากขึ้นตามจำนวนความสูงของตึก ความเหงาทำให้พวกเขาต้องการสัตว์เลี้ยงมาเติมเต็ม จึงทุ่มทุนฟูมฟักยกระดับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นตัวน้อยให้เหมือนคนในครอบครัว เพื่อให้สมาชิกเหล่านั้นมีชีวิตไม่ต่างจากลูกหรือคนรัก
2. Dual Income, No Kids (D.I.N.K) คนแต่งงานล้วไม่มีบุตร หรือมีแค่คนเดียว การอยู่เป็นคู่ในเพศเดียวกัน ทำให้สัตว์เลี้ยงเป็นมากกว่าแค่สัตว์เลี้ยง แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าครอบครัว เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ต้องการร่วมกันดูแลใครสักคน
3. Pet Humanization กลุ่มคนรักสัตว์นิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนลูก หมดยุคเลี้ยงสัตว์แบบคลุกข้าว ก้าวสู่ยุคถนอมดั่งดวงใจ การเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไปจากอดีตที่เจ้าของหาข้าวหาน้ำให้กิน ฉีดวัคซีนดูแลยามป่วยไข้ แต่สัตว์เลี้ยงในยุคปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตที่สูงขึ้น เริ่มตั้งแต่การจ่ายเงินเพื่อเลือกสัตว์เลี้ยง การดูแลด้านปัจจัย 4 ไปจนกระทั่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ โดยเฉลี่ยการเลี้ยงสุนัข 1 ตัว มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000-1,500 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของแมว 1 ตัว อยู่ที่ 700-1,000 บาทต่อเดือน
4. Pet Health Care improved วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น เนื่องจากกระแสความนิยมในธุรกิจสัตว์เลี้ยง ประกอบกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุ่มเทดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักเรียนสัตวแพทย์หันมาเลือกเรียนทางด้านสัตว์เลี้ยงมากขึ้น 70-80% จากเดิมที่เลือกเรียนเกี่ยวกับปศุสัตว์ ทำให้ธุรกิจคลินิคสัตว์เลี้ยงในเมืองโตขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีโรงพยาลสัตว์ทั่วประเทศกว่า 3 พันแห่ง แบ่งเป็นคลินิกเล็กๆ 80% คลินิคที่สามารถผ่าตัดได้ 15% และโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกประมาณ 5%
5. Friendly Pet Community มีสถานที่และที่พักอาศัยสำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น เมื่อความผูกผันระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของมีมากขึ้น บริการต่างๆ จึงผุดขึ้นมารองรับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ เช่น โรงแรมแมวโคฟูกุ ที่บริการรับฝากแมว แต่ถึงแม้จะเป็นโรงแรมแมวที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย รองรับแมวได้กว่า 200 ตัว แต่ในช่วงหน้าเทศกาลก็ต้องจองล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน เพราะที่พักยังไม่เพียงพอ เนื่องจากจำนวนแมวที่มีเจ้าของเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีประมาณ 4 แสนตัว
จากปัจจัยดังกล่าวคาดการณ์ว่าสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมีวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์การเมืองอย่างเช่นธุรกิจอื่นๆ เพราะเจ้าของอยากให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกับตัวเอง เช่น พาไปนั่งเล่นตามคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ไปออกกำลังกายที่สระว่ายน้ำ ทำสปา แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับสวยๆ กระทั่งมีพิธีการฌาปนกิจ ส่งผลให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีโอกาสต่อยอดได้อีกไกล และมีอนาคตสดใส
สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
สินเชื่อและบริการยอดฮิต