29 มี.ค. 62

อัพเดทสิทธิประกันสังคมของคุณแม่ๆ

คะแนนเฉลี่ย

ประกัน

​​​​​​​​​​อัพเดทสิทธิประกันสังคมของคุณแม่ๆ

 

          การตัดสินใจมีบุตรสักคน นับเป็นเรื่องสำคัญของครอบครัว เพราะนอกจากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว เรื่องของค่าใช้จ่ายก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตร เริ่มตั้งแต่การฝากครรภ์ การคลอดบุตร การเลี้ยงดูบุตร ซึ่งมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนเงินที่สูง แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์และอยู่ในระบบประกันสังคม อาจจะสามารถแบ่งเบาค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยการใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมได้ K-Expert ขออัพเดทสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนเป็นแม่ได้ ดังนี้

 

สิทธิค่าตรวจและการฝากครรภ์ New

          ประกันสังคมได้มีการเพิ่มประโยชน์ทดแทนค่าตรวจครรภ์และฝากครรภ์ให้แก่ผู้ประกันตนอีก 1,000 บาท โดยแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทน จะต้องมีการจ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนที่ใช้สิทธิ เช่น ถ้าเริ่มตั้งครรภ์เดือนมีนาคม 2562 ประกันสังคมจะนับย้อนหลังไป 15 เดือนจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งภายในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน และจะต้องมีหลักฐานการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ สิทธิการตรวจและการฝากครรภ์ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 โดยประกันสังคมจะจ่ายผลประโยชน์ทดแทนให้ตามอายุครรภ์ โดย

  • อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ประกันสังคมจะจ่ายให้ตามจริง แต่ไม่เกิน 500 บาท
  • อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ประกันสังคมจะจ่ายให้ตามจริง แต่ไม่เกิน 300 บาท
  • อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ ประกันสังคมจะจ่ายให้ตามจริง แต่ไม่เกิน 200 บาท

          โดยผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร หรือจะยื่นขอรับพร้อมกับการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรก็ได้ กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพียงฝ่ายเดียว ไม่สามารถใช้สิทธิพร้อมกันในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง

 

สิทธิค่าคลอดบุตร New

          คุณพ่อหรือคุณแม่สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรแต่ละครั้ง จากเดิมไม่เกิน 2 ครั้ง มาเป็น   ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้เมื่อมีการจ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร โดยนำสูติบัตรมาประกอบการยื่นเรื่องเบิกได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

 

สิทธิการลาคลอด

          คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนสามารถลาคลอดได้ 90 วัน และจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง ในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย (ฐานเงินค่าจ้างสูงสุดที่นำส่งประกันสังคมอยู่ที่ 15,000 บาท) เป็นเวลา 90 วัน

 

ตารางแสดงผลประโยชน์ทดแทนที่ได้รับจากประกันสังคมจากการคลอดบุตร 1 ครั้ง (หน่วยเป็นบาท)

ฐานเงินค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคมเงินสงเคราะห์การลาหยุดงานเงินค่าคลอดเงินค่าฝากครรภ์รวมเบิกได้
6,0009,000
13,0001,000
23,000
8,000
12,000
13,000
1,000​
26,000
10,000
15,000
13,000
1,000
29,000
12,000
18,000
13,000
1,000
32,000
14,000
21,000
13,000​
1,000
35,000
15,000
22,50013,000
1,000
36,500


สิทธิเงินสงเคราะห์บุตร New

          ประกันสังคมได้เพิ่มประโยชน์การรับเงินสงเคราะห์บุตรให้คุณพ่อหรือคุณแม่ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 400 บาทต่อบุตร 1 คน เป็นเดือนละ 600 บาทต่อบุตร 1 คน และเบิกได้ไม่เกิน 3 คน โดยให้มีผลย้อนหลังใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร เมื่อมีการจ่ายเงินเข้าประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน

ในการรับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (ไม่รวมบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น) แม้ว่าคุณพ่อหรือคุณแม่ที่ใช้สิทธิเกิดทุพพลภาพหรือเสียชีวิตก่อนลูกมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ประกันสังคมก็ยังจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรจนบุตรมีอายุ 6 ปีบริบูรณ์ โดยจ่ายให้กับผู้อุปการะบุตร ซึ่งผู้อุปการะสามารถยื่นคำขอเพื่อรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 

 

ตารางแสดงการจ่ายเงินของประกันสังคม กรณีจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

กลุ่มที่ 1 กรณีผู้ประกันตนที่มีการบันทึกอนุมัติให้ได้สิทธิก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีระยะเวลาตัดจ่ายย้อนหลัง 1 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรดังนี้

วันที่โอนเงินสงเคราะห์บุตรของรอบเดือนจำนวนเงิน (บาท)​เงินที่จ่าย
31 มกราคม 2562
ธันวาคม 2561
600 บาท​
รายเดือน
มกราคม – พฤศจิกายน 25612,200 บาท
เงินก้อนย้อนหลัง
28 กุมภาพันธ์ 2562 และทุกๆ สิ้นเดือนมกราคม 2562 ถึงบุตรอายุครบ 6 ปี (กรณีเป็นผู้ประกันตนต่อเนื่อง)600 บาท
รายเดือน

 

กลุ่มที่ 2 กรณีผู้ประกันตนที่มีการบันทึกอนุมัติให้ได้สิทธิตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีระยะเวลาตัดจ่ายย้อนหลัง 3 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรดังนี้

วันที่โอนเงินสงเคราะห์บุตรของรอบเดือนจำนวนเงิน (บาท)เงินที่จ่าย
31 มกราคม 2562
ตุลาคม 2561
600 บาท​
รายเดือน
มกราคม – กันยายน 25611,800 บาท

เงินก้อนย้อนหลัง
28 กุมภาพันธ์ 2562 และทุกๆ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงบุตรอายุครบ 6 ปี (กรณีเป็นผู้ประกันตนต่อเนื่อง)600 บาท
รายเดือน​

 

          ดังนั้น หากภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรย้อนหลัง  แนะนำให้รีบติดต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ เพื่อขอรับเงินสงเคราะห์บุตรย้อนหลัง หรือโทรตรวจสอบสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรย้อนหลังได้ที่ 1506

          

          ทั้งนี้นอกจากคุณแม่คุณพ่อผู้ประกันตนจะได้สิทธิประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการมีบุตรแล้ว สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังมีรายได้ที่ต้องเสียภาษี K-Expert แนะนำว่าอย่าลืมนำค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรหลังหักสิทธิประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมและสวัสดิการอื่น ๆ ในส่วนที่ยังไม่เกิน 60,000 บาท และค่าลดหย่อนบุตรตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มด้วย 

          

          ​อย่างไรก็ตาม แม้คุณพ่อคุณแม่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมและสิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว แต่การมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาในครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควรในการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโต ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย K-Expert แนะนำให้เตรียมความพร้อมด้วยการวางแผนทางการเงิน โดยหากเป็นค่าใช้จ่ายระยะสั้นเมื่อเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งทำคลอด และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรช่วงแรกเกิดถึงอายุ 2 ปี แนะนำคุณพ่อคุณแม่วางแผนเก็บสะสมในรูปกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ แต่หากเป็นการวางแผนการศึกษา ซึ่งเป็นการวางแผนทางการเงินระยะยาว มีวิธีการลงทุนหรือออมหลากหลายที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านชีวิตและทางการเงินไปพร้อมกัน เช่น การลงทุนในกองทุนรวมผสม หรือการทำประกันชีวิตแบบจ่ายแล้วได้รับเงินคืนระหว่างสัญญา ครบกำหนดรับเงินคืนเป็นก้อนไว้สำหรับเป็นเงินทุนสนับสนุนการศึกษาของลูกในอนาคต เป็นต้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • เทียบสิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตร กับ สิทธิประกันสังคม อะไรคุ้มกว่ากัน
  • ลดหย่อนภาษีได้มากยิ่งขึ้นจากการมีลูก

 


ให้คะแนนบทความ

อิสราภรณ์ บุรณิกานนท์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย