22 พ.ย. 60

วิธีการหากองทุนเด่นด้วยการอ่าน Fund Fact Sheet

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​วิธีการหากองทุนเด่นด้วยการอ่าน Fund Fact Sheet​


          ​ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการปรับปรุงรูปแบบ Fund Fact Sheet ขึ้นมาใหม่ โดยมีเนื้อหาสำคัญเพิ่มเติมจากรูปแบบก่อนจำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้ลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเลือกกองทุนที่ผลการดำเนินงานโดนเด่น K-Expert มีคำแนะนำเบื้องต้นในการพิจารณาเลือกลงทุน ดังต่อไปนี้


1.เปรียบผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนกับดัชนีชี้วัด (เกณฑ์อ้างอิง)
            ดัชนีชี้วัด เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ที่ลักษณะคล้ายกัน เพราะฉะนั้นแล้วกองทุนที่ผู้ลงทุนตัดสินใจเลือกควรมีผลการดำเนินงานมากกว่าเกณฑ์ชี้วัด ทั้งนี้ กองทุนแต่ละกองทุนนั้นมีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นลงทุน ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นมีดัชนีชี้วัดเป็น SET TRI ซึ่งเป็นผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่รวมเงินปันผลด้วย



          จากภาพ เป็นผลการดำเนินงานต่อปีโดยแสดงย้อนหลัง 10 ปี เช่น ในปี 2559 หากนักลงทุนซื้อกองทุนในวันที่ 4 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นวันทำการแรกของเดือนมกราคมเทียบกับวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นทำการสุดท้ายของปี นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ 19.85% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนรวมของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 0.06% (ผลตอบแทนของดัชนีชี้วัดเท่ากับ 19.79%) แต่หากกราฟแสดงภาพลงด้านล่าง เช่น ปี 2551 แสดงว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน (เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์) หากเทียบกับดัชนีชี้วัดซึ่งเป็นสินทรัพย์ลักษณะเดียวกับที่กองทุนลงทุนจะพบว่ากองทุนขาดทุนน้อยกว่า 0.32% เป็นต้น​

 2.การอ่านตารางผลตอบแทนแบบปักหมุด
            ผลตอบแทนของกองทุนรวม
            สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการเลือกกองทุนรวมจากผลการดำเนินงาน สามารถพิจารณาได้จากตารางผลตอบแทน โดยในช่อง Year to Date เป็นผลการดำเนินงานย้อนหลังโดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ที่รายงาน เช่น หาก Fund Fact Sheet เป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.60 ผลการดำเนินงานช่อง Year to Date จะนับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 30 มิย.60 เป็นต้น 
            ในช่อง 3 เดือนหรือ 6 เดือน เป็นผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบช่วงเวลา คือ นับย้อนหลังจากวันที่ออกเอกสารเป็นระยะเวลา 3 เดือนหรือ 6 เดือนตามลำดับ เช่น หากลงทุนตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.60 จะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ 7.21% 
            ในช่อง 1ปี, 3ปี, 5 ปี,10ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนรวม จะเป็นผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบเฉลี่ยต่อปี ยกตัวอย่างเช่น หากลงทุนในกองทุนนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 11.43% โดยในบางปีอาจจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนี้ก็ได้ แต่หากกองทุนจัดตั้งมาไม่ถึง 1 ปี ผลการดำเนินงานจะแสดงแบบช่วงเวลา




ความผันผวนของกองทุน/ความเสี่ยงของกองทุนรวม
             ค่าความผันผวนเป็นช่วงการแกว่งตัวของผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น  ความผันผวนของผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี เท่ากับ 17.97% ต่อปี และกองทุนรวมมีผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 11.43% ต่อปี หมายความว่า นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนนี้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนอยู่ระหว่าง -6.54% ต่อปี (11.43% - 17.97%) ถึง 29.4% ต่อปี (11.43% + 17.97%) ซึ่งโอกาสที่จะเกิดผลตอบแทนดังกล่าวจะอยู่ที่ 68% (ตามหลักสถิติความน่าจะเป็น 1 Standard Deviation : SD เท่ากับ 0.68 หรือ 68%) ดังนั้น บางช่วงนักลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรมากกว่าช่วงผลตอบแทนข้างต้นก็ได้
             จะเห็นได้ว่า ค่าความผันผวนเป็นช่วงการแกว่งตัวของผลตอบแทน ดังนั้นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยควรเลือกช่วงการเปลี่ยนแปลงแคบหรือค่าความผันผวนต่ำเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุน
         
เทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Peer Group Performance)
             เป็นการนำเอากองทุนรวมที่อยู่ในประเภทเดียวกันมาจัดเรียงลำดับ โดยจะแสดงค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ 5 25 50 75 และ 100 เท่านั้น นั่นคือ กองทุนที่สามารถทำผลการดำเนินงานสูง รวมถึงมีค่าความผันผวนต่ำ เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน จะมีค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ อยู่ในลำดับต้นๆ เช่น 5 25 หรือ 50 เป็นต้น 
             ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนต้องการนำกองทุนอื่นๆ มาเปรียบเทียบกันด้วยการเทียบแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์จะต้องเป็นกองทุนที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยสามารถสังเกตได้จากหัวข้อ “ประเภทกองทุนรวม ณ  จุดขาย”​

ประเภทกองทุนรวม​เพื่อใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน​ ณ จุดขาย ​คือ Equ​ity​​ Large Cap Equity​
             ถึงแม้ว่าข้อมูลผลการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นข้อมูลในอดีต แต่การเห็นการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมาย่อมช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองได้ง่ายขึ้น และสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการเลือกลงทุนในกองทุนที่ผลการดำเนินงานสูงควรพิจารณาควบคู่กับความผันผวนหรือความเสี่ยง และพิจารณาเลือกกองทุนที่มีค่า percentile น้อยกว่า 50 ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยตรงกลาง​


ให้คะแนนบทความ

เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย