25 ม.ค. 62

6 สายนักลงทุนกองทุนรวม

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน
​​​​​​​​​6 สายนักลงทุนกองทุนรวม​

 
          นักลงทุนกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือมือเก๋า ต่างคนต่างก็มีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกันไป บางคนค้นพบลักษณะการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับตนเอง ขณะที่บางคนแม้จะลงทุนมาซักพัก แต่ก็ยังไม่เจอสไตล์การลงทุนของตนเอง ทำให้การลงทุนบางครั้งกินก็ไม่ได้ นอนไม่หลับ


 

          ก่อนจะเริ่มลงทุน ผู้ลงทุนต้องรู้จักตัวเองเสียก่อนว่า เรามีลักษณะนิสัยในการลงทุนอย่างไร แบบไหนที่เราสบายใจ วันนี้ K-Expert จะมาแนะนำ 6 พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนแต่ละสาย และกองทุนที่แนะนำให้นักลงทุนได้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมในครั้งต่อไป


 

1. นักลงทุนสายตั้งรับ นิ่ง สงบ สยบทุกความเคลื่อนไหว

          ลักษณะ: นักลงทุนสายนี้จะเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ กลัวเงินต้นหาย ไม่ชอบความผันผวนและขาดทุน ลักษณะการลงทุนมักจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน การลงทุนมักไม่ค่อยผันผวน พอร์ตจะนิ่งๆ แต่อัตราผลตอบแทนจะน้อย บางครั้งถึงขั้นน้อยกว่าเงินเฟ้อก็ยอม

          คำแนะนำ: สำหรับนักลงทุนสายตั้งรับ อาจจะเริ่มลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงขึ้นบ้าง แต่ไม่มากเท่าลงทุนในกองทุนหุ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว หรือกองทุนผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นบ้าง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อหรือเงินฝากออมทรัพย์


 

2. นักลงทุนสายนักเทรด จังหวะตลาดคืองานของเรา

          ลักษณะ: สายนักเทรด เป็นสายที่ชอบจับจังหวะตลาด หาจุดซื้อ จุดขาย จุดเข้าและจุดออกจากกราฟ และใช้ข้อมูลทางเทคนิคประกอบการตัดสินใจและการวิเคราะห์ประเด็นทางเศรษฐกิจทั่วโลก นักลงทุนสายนักเทรดอาจจะเป็นสายเข้าไวออกไว หรือสาย Run Trend ถือไปตามสภาวะตลาด ยอมรับตัดขาดทุน (Stop Loss) ได้ ถ้าผิดจังหวะหรือผิดทาง ไม่ว่า SET Index จะขึ้นหรือลงนักลงทุนสายนี้จะสามารถหาโอกาสทำเงินได้จากตลาดหุ้นเสมอ

          คำแนะนำ: แนะนำกองทุนอิงดัชนี เช่น กองทุน SET 50 ซึ่งเป็นกองทุนที่เหมาะสม เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมการซื้อและขายที่ต่ำมาก เหมาะกับการซื้อๆ ขายๆ ที่บ่อย นอกจากนี้ มีกองทุนดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมการซื้อถูกและไม่ยุ่งยากในการเปิดบัญชีให้ผู้ที่เทรดอย่างชำนาญแล้วได้ลองฝีมืออีกด้วย การลงทุนสายนี้หากจับจังหวะผิดทิศ นักลงทุนมีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน แต่ถ้ามาถูกทางจะสามารถหาโอกาสทำกำไรได้หลายรอบ

​ 

3. นักลงทุนสายถือลืม เงินเย็น ถือเรื่อยๆ ไม่สะทกสะท้าน

          ลักษณะ: สายถือลืมเป็นอีกสายหนึ่งของสไตล์การลงทุนที่ไม่สะทกสะท้านกับสภาวะตลาด ไม่ว่าตลาดขึ้นหรือลง สายถือลืมก็จะถือไป นักลงทุนสายถือลืมมักมีความเข้าใจในสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจ มีเงินเย็น ไม่มีความจำเป็นต้องรีบใช้เงินในระยะเวลาอันสั้น สามารถถือได้ยาวมากกว่า 5 ปี

          คำแนะนำ: นักลงทุนสายนี้คือ ต้องเข้ามาดูผลตอบแทนบ้างอย่างน้อยทุกๆ ครึ่งปี ไม่ควรถือจนลืม เพราะจะทำให้พลาดโอกาสในบางช่วง และไม่ควรมีการลงทุนเพียงกองเดียวที่ถือจนลืม การจัดพอร์ตการลงทุนโดยแบ่งสัดส่วนสินทรัพย์แต่ละประเภทตามความเสี่ยงที่รับได้ และมีการปรับพอร์ตอย่างน้อยทุกปีให้สัดส่วนการลงทุนตรงกับสัดส่วนที่ตั้งใจถือไว้ตั้งแต่แรก (Rebalancing) เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการทำกำไรในแต่ละปีและไม่ให้ความเสี่ยงของพอร์ตสูงเกินไป


 

4.  นักลงทุนสายหาตัวช่วยให้คนช่วยสร้างผลตอบแทน

          ลักษณะ: สายหาตัวช่วยเป็นอีกสายที่มีค่อนข้างเยอะ นักลงทุนที่ผ่านการศึกษาการลงทุนมาพอสมควร แต่ยังไม่มั่นใจในการบริหารพอร์ตการลงทุนเอง หรือเคยลงทุนในหุ้นเองแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อยากให้มีคนมาช่วยดูแลตัดสินใจในการลงทุนแทน กองทุนที่บริหารเชิงรุกหรือ Active fund เป็นทางเลือกหนึ่งที่ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย

          คำแนะนำ: นักลงทุนสายหาตัวช่วยสามารถหากองทุนรวมที่นโยบายการลงทุนตรงกับที่เราต้องการ เช่น ถ้าเราต้องการลงทุนในหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก เพราะเชื่อว่าในอนาคตหุ้นกลุ่มนี้จะเติบโตได้ดี เราก็ควรเลือกกองทุนรวมที่ผู้จัดการกองทุนเน้นการลงทุนไปในกลุ่นหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก จากนั้นเปรียบเทียบผลตอบแทนย้อนหลังว่าดีหรือไม่เมื่อเทียบกับดัชนีชีวัด ฝีมือของผู้บริหารกองทุนเป็นอย่างไร ได้ดาวจาก Morningstar กี่ดาว ถ้าชอบเงินปันผล ควรดูว่ากองทุนมีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอหรือไม่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกกองทุนที่บริหารเชิงรุกให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการ


 

5. นักลงทุนสายชิลล์ถือยาวๆ รอรับเงินปันผล

          ลักษณะ: นักลงทุนสายชิลล์ต้องการกระแสเงินสด เช่น เงินปันผลระหว่างที่ลงทุน นักลงทุนสายชิลล์ไม่ชอบอะไรที่ผันผวนมาก ลงทุนได้นาน รับความเสี่ยงได้ปานกลาง มักจะลงทุนในกองทุนที่มีปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นรายตัวที่มีการจ่ายเงิน    ปันผลออกมาตรงกับความต้องการอย่างสม่ำเสมอ

          คำแนะนำ: การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้จัดการกองทุนเป็นคนเลือกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาจจะมีความผันผวนของราคาได้เช่นกัน


 

6. นักลงทุน SAVE ประหยัดภาษี ลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเท่านั้น

          ลักษณะ: นักลงทุนสาย SAVE เป็นกลุ่มที่ใช้กองทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ กองทุน LTF และ RMF โดยลงทุนกองทุน 2 ประเภทนี้เป็นหลัก ไม่ลงทุนกองทุนรวมอื่นๆ เพราะอยากได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ส่วนใหญ่นักลงทุนประเภทนี้มักจะลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้ความเสี่ยงโดยรวมสูงเกินไป

          คำแนะนำ: ​การจัดพอร์ตการลงทุนในส่วนของกองทุนช่วยลดหย่อนภาษีให้มีการกระจายความเสี่ยง เช่น การใช้กองทุน RMF เป็นตัวช่วยในการประหยัดภาษีสามารถจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาว โดยอาจจะสับเปลี่ยน RMF ที่เคยลงทุนในหุ้นไปลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้พอร์ตมีความเสี่ยงลดลง และสำหรับ LTF การลงทุนในรูปแบบ DCA หรือลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือนสามารถช่วยเฉลี่ยต้นทุนการซื้อในปีนั้นๆ ได้


 

          นักลงทุนคงพอจะเริ่มรู้จักกับพฤติกรรมการลงทุนกองทุนรวมในแต่ละประเภทแล้วนะครับ ตอนนี้ต้องมาค้นหาว่าตัวเองเป็นสายใด เหมาะกับการลงทุนแบบไหน อย่าลืมคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับแต่ละสายนักลงทุนที่ K-Expert แนะนำด้วยนะครับเพื่อจะได้ค้นหาสไตล์การลงทุนของตัวเอง ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในการลงทุนครับ​


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

​​​
Workshop ที่เกี่ยวข้อง : 
- เลือกกองทุนอย่างเซียน
- เสริมแกร่งมือใหม่ หัดลงทุนกองทุนรวม

Tool :  K-Expert MyPort


 

ให้คะแนนบทความ

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก K-Expert

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย