17 ม.ค. 63

ฮาวทูทิ้ง ทิ้งหุ้น ทิ้งกองทุน อย่างไรไม่ให้ช้ำใจ

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​ฮาวทูทิ้ง ทิ้งหุ้น ทิ้งกองทุน อย่างไรไม่ให้ช้ำใจ


          ​การจัดบ้าน จัดห้องคงเป็นเป้าหมายที่ใครหลายๆ คนตั้งใจทำในช่วงเริ่มต้นปี เช่นเดียวกับหนังเรื่องหนึ่ง ที่นางเอกของเรื่องต้องการเก็บของเพื่อรีโนเวตบ้านให้กลายเป็นออฟฟิศ โดยใช้เทคนิคของ Marie Kondo ที่ปรึกษาด้านการจัดระเบียบ มาช่วยบ้าน แต่การเก็บของทิ้งนั้นไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตนเองวางไว้ เนื่องจากของหลายชิ้นนั้นมีความหมายและมีความทรงจำต่างๆ เช่น รูปถ่ายในอดีตกลับมามีความหมายล้ำค่าจนต้องรื้อค้นขึ้นมาใหม่ เป็นต้น และสุดท้ายนางเอกของเรื่องเลือกใช้วิธีการนำสิ่งของเหล่านั้นส่งคืนเจ้าของแทนที่จะทิ้งลงถุงดำตามที่ตั้งใจแต่ทีแรก


​          สำหรับคนที่ต้องการจัดระเบียบหุ้นหรือกองทุน ก็อาจจะรู้สึกไม่ต่างกัน การตัดใจขายหุ้นที่ขาดทุน หรือขายกองทุนที่ปันผลดี ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถนำเอาหลักการนี้มาคัดเลือกให้เหลือเฉพาะสินทรัพย์ที่สร้างผลกำไรและมีปริมาณเหมาะสมเพียงพอที่จะติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างทั่วถึง


หุ้น/กองทุนไหน ไม่ Spark Joy ก็ทิ้งมัน  


          หลักการคัดเลือกของ Marie Kondo บอกว่าทุกครั้งที่หยิบของมา ให้ถามตนเองว่า “ของสิ่งนั้นยังสร้างความสุข (Spark Joy) ให้เราได้หรือไม่?” ถ้าใช่ก็ให้เก็บไว้ ไม่ใช่ก็ให้แสดงความขอบคุณและทิ้ง สำหรับหุ้น/กองทุนที่ไม่ Spark Joy ได้แก่

     หุ้นหลุดแนวรับสำคัญ  

               สำหรับนักลงทุนระยะสั้นและกลาง ที่ซื้อหุ้นด้วยเทคนิคคอลหรือกราฟหุ้นหากหลุดแนวรับสำคัญ เช่น เส้นค่าเฉลี่ย EMA ก็ต้องรู้จักตัดขาดทุนไม่ใช่การหาเหตุผลอื่นมาใช้เพื่ออธิบายการถือหุ้นนั้นอยู่

     หุ้นพื้นฐานเปลี่ยน 

               การซื้อหุ้นพื้นฐานไม่ได้หมายความว่าต้องถือหุ้นเป็นระยะเวลา 5ปี 10ปี แต่หากมีเหตุการณ์สำคัญที่เข้ามากระทบบริษัทจนทำให้กำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น รายได้ลดลง ความสามารถในการทำกำไรลดลง คู่แข่งขันมากขึ้น เป็นต้น นักลงทุนก็ต้องขายหุ้นนั้นและเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทอื่นแทน 

     หุ้นที่มีราคาเข้าใกล้มูลค่าที่เหมาะสม 

               มูลค่าที่เหมาะสมนั้นมาจากการประเมินด้วยวิธีต่างๆ เช่น การหาค่า Fair Value, P/E Ratio เป็นต้น  การเห็นหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจทำให้อยากลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้วหากพบว่าราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกินจริงก็ควรขายทำกำไร

     กองทุนที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่ากองทุนอื่น 

               นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนกองทุนที่ตนเองลงทุนกับ
กองทุนอื่น ที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกันได้ด้วยการดูตารางการแสดงผลการดำเนินงานย้อนหลัง Peer Percentile หากพบว่าผลการดำเนินงานต่ำแต่มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ก็ควรขายและเลือกลงทุนในกองทุนอื่นแทน


ขายขาดทุนก็ต้อง Move On ต่อ


          ถึงแม้ว่าการลงทุนจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ต้องขายขาดทุนจำนวนมาก แต่การลงทุนก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีและหลีกเลี่ยงได้
ยาก โดยเฉพาะผู้ที่คาดหวังผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์  ประสบการณ์ลงทุนที่ไม่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งลงในถุงดำเพื่อให้ลืม แต่ควรเก็บไว้เป็นบทเรียนและลงทุนด้วยความรอบคอบ การลงทุนที่ดีควรมีการจัดพอร์ต ซึ่งข้อแนะนำสำหรับคนที่ต้องการจัดพอร์ต ได้แก่

     อย่าเติมของใหม่จนกว่าจะจัดพอร์ตเสร็จ 

               การถือหุ้น/กองทุนจำนวนมากไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะทำให้ได้ผลตอบแทนสูง หรือช่วยลดผลขาดทุน แต่หลักการกระจายความเสี่ยง คือต้องมีความแตกต่างด้านพื้นฐานหรือการเคลื่อนไหวของราคาเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุน

     จัดพอร์ตต้องเป็นวาระสำคัญ 

               เหมือนกับที่นางเอกของเรื่องที่ต้องรีโนเวตบ้านอย่างเร่งด่วน หรือการวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ ที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมและต้องวางแผนให้รอบคอบ โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายว่า วัตถุประสงค์การลงทุนครั้งนี้คืออะไร? ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่? มีระยะเวลาลงทุนนานขนาดไหน? หากให้ความสำคัญอย่างตั้งใจโอกาสที่จะทำสำเร็จก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

     สร้างประสบการณ์ใหม่จนไม่อยากติดดอยอีก 

               หลักการจัดบ้านของ Marie Kondo คือเก็บรวดเดียวให้เสร็จ เพื่อให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนจนไม่ยอมให้บ้านกลับไปรกอีก แต่การจัดระเบียบพอร์ตอาจใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหากแน่วแน่และดำเนินตามแผนจนทำสำเร็จ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามที่วางแผนไว้มากกว่าขาดทุน ทำให้มีกำลังใจในการลงทุนตามเป้าหมายอื่นๆ เพิ่มเติมตามมา

          ปัญหาหลักที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เคยจัดระเบียบพอร์ต คือ ความยึดติดและความเสียดาย ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งทำให้ ละเลยแผนการลงทุน การถือเอาบรรยากาศช่วงปีใหม่มาเป็นตัวช่วยจัดระเบียบการลงทุนก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี การขายขาดทุนอย่างมีหลักการ การคัดเลือกหุ้นและกองทุนด้วยความรอบก็ช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องกลับมาช้ำใจอีก ถึงแม้ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เป็นปีที่ดีของนักลงทุนหลายๆ คน แต่ก็ต้อง Move On ต่อ “ลืมหุ้นที่เคยดีในอดีต อยู่กับปัจจุบัน อนาคตนั้นจะดีเอง”



ให้คะแนนบทความ

เสาวนีย์ พงษ์เสนีย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย