16 มิ.ย. 61

ภาษีระหว่างปีที่ต้องรู้ เมื่อขายของออนไลน์

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

ภาษีระหว่างปีที่ต้องรู้ เมื่อขายของออนไลน์


​​          ขายของออนไลน์เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาหลายปี เพราะผู้ขายสามารถเลือกสินค้าที่ ชื่นชอบหรือมีความเชี่ยวชาญมาขายให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกทำเป็นอาชีพหลักหรือ​​อาชีพเสริมในนามบุคคลธรรมดาได้ง่ายอีกด้วย แต่เมื่อมีรายได้แล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตามมาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องภาษี ซึ่งภาษีที่ต้องรู้มีอะไรบ้างนั้น K-Expert ชวนมาค้นหาคำตอบจากบทความนี้กัน


          เมื่อมีรายได้จากการขายของออนไลน์แล้วต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ คำตอบคือต้องยื่นแน่นอน เพราะรายได้จากการขายของออนไลน์ถือเป็นรายได้ประเภทหนึ่งเรียกว่า 40(8) ที่นอกจากต้องนำไปรวมกับรายได้อื่น เช่น เงินเดือน โบนัส เพื่อยื่นภาษีสิ้นปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 แล้ว ยังต้องนำรายได้ประเภทนี้ไปยื่นภาษีครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย


          หากเพิ่งเริ่มขายโดยมีรายได้ไม่ถึงหลักหมื่นต้องนำไปยื่นภาษีหรือไม่ คำตอบคือหากเป็นภาษีสิ้นปีต้องยื่นแน่นอนเพราะเมื่อรวมกับรายได้อื่นแล้วคงถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพาพรกำหนด แต่หากเป็นการยื่นครึ่งปี คงต้องพิจารณาก่อนว่าในครึ่งปีแรกมีรายได้จากการขายรวมแล้วเป็นจำนวนเท่าไร หากรวมกันแล้วเกิน 60,000 บาท สำหรับคนโสด หรือสำหรับผู้ที่สมรสแล้วและทั้งคู่มีรายได้จากการขายของรวมกันเกิน 120,000 บาท ก็ถือว่าเข้าเงื่อนไขที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีเช่นกัน เพราะกรมสรรพากรกำหนดไว้ว่าคนโสดที่มีรายได้ประเภท 40(5) – 40(8) ในครึ่งปีแรกรวมกันเกิน 60,000 บาท (หรือคู่สมรสรวมกันแล้วเกิน 120,000 บาท) มีหน้าที่ต้องนำรายได้ 40(5) – 40(8) ที่ได้รับระหว่าง 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. ไปยื่นและเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในช่วง ก.ค. – ก.ย. ของปีเดียวกัน


          ทำอย่างไรจึงลดรายจ่ายภาษีครึ่งปีลงได้ คำตอบคือการวางแผนภาษี ซึ่งรูปแบบการวางแผนภาษีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการลงทุนกองทุน LTF กองทุน RMF เบี้ยประกันชีวิต และดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน โดยเกณฑ์หรือสิทธิสูงสุดในการลงทุนกองทุน LTF และกองทุน RMF นั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ตอนสิ้นปี เช่น กองทุน LTF ใช้สิทธิได้ตามเงินลงทุนจริงในครึ่งปีแรก สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีที่ได้รับในครึ่งปีแรก ไม่เกิน 500,000 บาท แต่สำหรับเบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านนั้นมีเกณฑ์ที่ต่างจากเกณฑ์ตอนสิ้นปี เช่น ใช้สิทธิได้ตามเบี้ยประกันหรือดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายจริงในครึ่งปีแรก สูงสุด 95,000 บาท (เกณฑ์สิ้นปีคือสูงสุด 100,000 บาท) ดังนั้นการวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปีสามารถช่วยลดรายจ่ายภาษีในช่วงครึ่งปีลงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ 40(5) – 40(8) หรือผู้ที่มียอดขายของออนไลน์ที่สูงตั้งแต่ครึ่งปีแรก


          การวางแผนภาษีช่วยให้ลดรายจ่ายภาษีครึ่งปีได้แค่ไหน เพื่อการตอบคำถามที่ชัดเจน ขอยกตัวอย่างสำหรับผู้ที่มียอดขายของออนไลน์ในครึ่งปีแรก 1 ล้านบาท หากไม่มีรายได้อื่นที่ต้องยื่นครึ่งปีแล้ว และเลือกใช้การหักค่าใช้จ่ายอัตราเหมา 60% จะมีอัตราภาษีครึ่งปีอยู่ที่ 10% และมีภาษีจ่ายอยู่ที่ 14,500 บาท แต่หากมีการลงทุนกองทุน LTF เต็มสิทธิครึ่งปีจำนวน 150,000 บาท (15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีที่ได้รับในครึ่งปีแรก แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท) จะเหลือภาษีครึ่งปีเพียง 3,500 บาท หรือสามารถชะลอการจ่ายภาษีจำนวน 11,000 บาท จากภายในเดือน ก.ย. ไปรอจ่ายเพิ่มอีกครั้งในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป หรือชะลอได้ประมาณ 6 เดือน เพราะการยื่นภาษีสิ้นปีจะมีการนำรายได้อื่นไปรวมยื่น ส่งผลให้มักต้องมีการชำระภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีการวางแผนภาษีเต็มปีอยู่แล้ว การวางแผนภาษีตั้งแต่ครึ่งปีไม่ได้ทำให้ภาษีโดยรวมทั้งปีลดลง แต่เป็นการบริหารค่าใช้จ่ายให้จ่ายภาษีครึ่งปีน้อยลงและรอจ่ายภาษีสิ้นปีมากขึ้น เพื่อสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้นในช่วง 6 เดือนนี้ได้ อีกทั้งหากใครที่มียอดขายสูงกว่านี้ก็สามารถใช้สิทธิในกองทุน RMF หรือเบี้ยประกันชีวิตตั้งแต่ครึ่งปีแรก เพื่อชะลอภาษีจ่ายลงได้อีก


          รายได้ที่ยื่นครึ่งปีไปแล้ว ยังต้องนำไปยื่นสิ้นปีอีกหรือไม่ คำตอบคือ ต้องยื่นสิ้นปีอีกครั้ง โดยการยื่นภาษีสิ้นปีนั้นเป็นการนำรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดปีภาษี ซึ่งครอบคลุมรายได้ทั้งที่เคยยื่นและไม่เคยยื่นภาษีกลางปี รวมถึงค่าลดหย่อนต่างๆ ตลอดปีภาษี เพื่อคำนวณภาษีที่แท้จริงของปีภาษีนั้นว่าเป็นจำนวนเท่าไร หากคำนวณแล้วพบว่ายังมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ก็ต้องดำเนินการชำระภายใน มี.ค. ของปีถัดจากปีภาษี แต่หากคำนวณแล้วพบว่าที่ผ่านมาภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมกับภาษีครึ่งปีที่ได้ชำระไปแล้วมากกว่าภาษีสิ้นปีที่คำนวณ ก็สามารถดำเนินการขอคืนภาษีส่วนต่างนั้นได้


          ไม่ยื่นภาษีภาษีครึ่งปี รอยื่นครั้งเดียวสิ้นปีได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี โดยส่งผลให้มีเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับตั้งแต่เดือน ต.ค. และค่าปรับอีก 2,000 บาท อย่างไรก็ตาม การยื่นภาษีครึ่งปีนั้นมีข้อดี เพราะเสมือนเป็นการทยอยชำระภาษีส่วนหนึ่งก่อน เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเป็นอัตราก้าวหน้า 5%-35% ดังนั้นผู้ที่มียอดขายของออนไลน์สูง การรอคำนวณภาษีครั้งเดียวตอนสิ้นปีนั้นอาจส่งผลให้มีรายจ่ายภาษีที่สูง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่มีการเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ การยื่นภาษีครึ่งปีจึงเป็นตัวช่วยหนึ่งในการส่งสัญญาณให้กับผู้ที่มีอัตราภาษีสูง เช่น 20% ที่หากครึ่งปีหลังมียอดขายในจำนวนที่เท่ากับครึ่งปีแรก ก็มีโอกาสที่อัตราภาษีสิ้นปีเป็น 30% และต้องมีการเตรียมเงินไว้จ่ายภาษีสิ้นปีในจำนวนที่มากกว่าภาษีครึ่งปีถึงกว่า 1 เท่าเลย อีกทั้งหากสิ้นปีมีการนำรายได้อื่น เช่น เงินเดือน โบนัส มายื่นภาษีพร้อมกันแล้ว ย่อมส่งผลให้ภาษี   สิ้นปีนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยเลย


          นอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีแล้ว ภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ขายออนไลน์ต้องทราบ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยเฉพาะผู้ที่ยอดขายทั้งปีมีแนวโน้มเกิน 1.8 ล้านบาท เพราะเมื่อใดที่ปีนั้นมีรายได้จากการขายของออนไลน์เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ โดยหลังจากนั้นยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากละเลยไม่จดทะเบียนภายในกำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากจดทะเบียนแล้วแต่ไม่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของแต่ละเดือน ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน และเบี้ยปรับอีก 1 หรือ 2 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ ดังนั้นสำหรับผู้ที่มียอดขายของออนไลน์เติบโต จนมีโอกาสถึงเกณฑ์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แนะนำให้อ่านบทความ K-Expert เรื่อง “(ไม่) จด VAT ดีกว่าไหม ถามใจดู” เพื่อที่แม้ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไม่เต็มใจ แต่ก็ยังสามารถจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้
 
          สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่ว่ามาจากทางใด ภาษีถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไม่มองข้าม ซึ่งการยื่นและเสียภาษีที่ถูกต้อง นอกจากช่วยให้หมดกังวลว่าอาจมีข้อโต้งแย้งกับหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือของรายได้ตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านฐานะการเงินของตนเองในอนาคตได้




ให้คะแนนบทความ

ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย