04/09/2557 โกลบอลเฮ้าส์-SCGรุกค้าวัสดุ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "เอสซีจี" ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการ ร่วมทุนธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างในอาเซียน โดยเอสซีจีจะเข้าร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 กับ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ จัดตั้ง บริษัท โกลบอลเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยใช้เงินลงทุนในส่วนของเอสซีจีประมาณ 200 ล้านบาท การร่วมทุนดังกล่าวเป็นการสร้างโอกาสขยายธุรกิจศูนย์ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างในรูปแบบคลังสินค้าในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเอสซีจีในการขยายธุรกิจในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในอนาคต โดยอาศัยความเป็น ผู้นำตลาดเครือข่ายธุรกิจในอาเซียนของเอสซีจี ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการทำธุรกิจศูนย์ค้าปลีกวัสดุของโกลบอล เฮ้าส์มากว่า 17 ปี นายวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ ผู้พัฒนาศูนย์จำหน่ายวัสดุก่อสร้างใน รูปแบบคลังสินค้า ภายใต้ชื่อ "โกลบอลเฮ้าส์" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เหตุผลที่สนใจรุกตลาดอาเซียน เนื่องจาก ปัจจุบันเอสซีจี มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ในสยาม โกลบอลเฮ้าส์ และมีความชำนาญการทำธุรกิจอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม สหภาพเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มาหลายปี ทั้งการส่งสินค้าไปจำหน่าย ตั้ง โรงงานผลิตสินค้า และควบรวมกิจการกับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยบริษัทเริ่มศึกษาตลาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ขณะนี้สนใจ ลงทุนในสหภาพเมียนมาร์ หรืออินโดนีเซีย เป็นตัวเลือก 2 ประเทศแรก ซึ่งมีความน่าสนใจใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นร่วมทุนด้วย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งมีทั้งกลุ่ม ทุนท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจค้าวัสดุและอยู่ในธุรกิจอื่น ๆ โดยอาจพิจารณาปัจจัยเรื่องการมีคอนเน็กชั่นที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม เช่น สิทธิ์การซื้อ-เช่าที่ดิน, การใช้แบรนด์ร้านโกลบอลเฮ้าส์ ฯลฯ นายวิทูรกล่าวต่อว่า โมเดลศูนย์ค้าวัสดุก่อสร้างที่จะลงทุนจะยึดรูปแบบเดียวกับร้านโกลบอลเฮ้าส์ในประเทศไทย ที่ เป็นคลังสินค้าขนาดใหญ่แบบไม่ติดแอร์ เน้นขายวัสดุก่อสร้างที่เป็นสินค้าท้องถิ่นและนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก กระเบื้องหลังคา ฯลฯ แต่ขนาดร้านอาจจะเล็กกว่า เริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นตารางเมตร ขณะที่ร้านโก ลบอลเฮ้าส์ในประเทศไทยมีพื้นที่เฉลี่ย 1.5-2 หมื่นตารางเมตร ส่วนพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นไม่จำกัดการลงทุนที่เมืองหลวงของแต่ละประเทศ แต่ศึกษาการลงทุนไว้หลายเมือง เนื่องจาก โกลบอลเฮ้าส์เป็นร้านขนาดใหญ่ มีรัศมีการดึงคนเข้าร้านได้ในรัศมี 20-30 กิโลเมตร "คาดว่าจะเห็นการลงทุนในปีหน้าในรูปแบบร้านแฟลกชิปสโตร์ที่เป็นเรือธงอย่างน้อย 1 สาขา ประมาณการงบฯ ลงทุนต่อสาขา 300-500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคาที่ดินในแต่ละพื้นที่"