13/12/2553 รับเหมารายใหญ่ตัดราคายับ นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสงเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้างภาคราชการในปีนี้ถือว่ายังย่ำแย่ เนื่องจากมีงานใหม่ ออกมาน้อย เพราะงบประมาณก่อสร้างในปี 2552 ทั้งปีมีงบเพียง 1.7 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันการใช้งบไทยเข้มแข็งเข้ามาช่วยภาคการก่อสร้างอีก 7-8 หมื่นล้านบาท ก็ถูกนำไปแก้ปัญหาน้ำท่วม ในหลายภูมิภาค "ปัญหาใหญ่ของภาครับเหมาก่อสร้างที่ต้องเผชิญกันอยู่ คือการแข่งขันกันเพื่อรับงาน โดยเฉพาะการกดราคาจาก ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่และรายกลางเพื่อที่จะรับงานก่อสร้าง เนื่องจากทุกรายต้องการรับงานใหม่เข้ามาอยู่ใน มือให้มากที่สุด โดยเปิดซองประมูลงานต่ำกว่าราคากลาง 15-20% ซึ่งงานก่อสร้างที่ประมูลมาได้นั้นผู้รับเหมาเอง ก็อยู่ยาก แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ได้งานมา" นายกฤษดา กล่าว สำหรับงานก่อสร้างภาคเอกชนในมีทิศทางที่ดีอยู่เพียงกลุ่มเดียวคือการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ส่วนการก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากภาคธุรกิจการส่งออกของไทยยังมีปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็ง ค่าขึ้น แต่จะมีดีเฉพาะภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกันปัญหาภาคแรงงานก่อสร้างเริ่มมีปัญหาจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ สูงขึ้น ทำให้ต้องหันไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น แต่ยังมีข้อดีที่ราคาวัสดุก่อสร้างในปีนี้ยังไม่ปรับขึ้น มีเพียง ปูนซีเมนต์ที่ปรับขึ้นตันละประมาณ 5% อย่างไรก็ตาม ภาคการก่อสร้างในปี 2554 ปัญหาหลักที่ผู้รับเหมายังต้องเผชิญคือ การแข่งขันฟันราคากลางเพื่อรับ งานก่อสร้าง "เวลานี้ราคากลางรับเหมาก่อสร้างนั้นไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เมื่อผู้รับเหมาก่อสร้างอยากได้งานก็ต้องประมูล ซึ่งส่วนใหญ่จะต่ำกว่าราคากลางไม่เกิน 15% เพราะหากประมูลต่ำกว่านั้นจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดิน (สตง.) จึงต้องมีการปรับปรุงราคากลางงานของภาครัฐใหม่ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งยังเป็น ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข"นายกฤษดา กล่าว นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องเผชิญกับปัญหา คือเกิดจากนักเก็งกำไรราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่อาจจะ ส่งผลต่อราคาวัสดุที่อาจจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนกับเมื่อครั้งที่เจอกับปัญหาราคาเหล็กและวัสดุต่อเนื่อง อย่างอะลูมิเนียมและทองแดงก็ปรับสูงขึ้นตาม หากมีการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 อาจจะทำให้ภาคการก่อสร้างซบเซาไปประมาณ 1 ไตรมาส เนื่องจากต้องรอการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลชุดใหม่ และคาดว่าธุรกิจการก่อสร้างเริ่มกลับมาฟื้นตัว ในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า