02/12/2553

ผลิตภัณฑ์คอมโพสิตโตต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมคอมโพสิตยังมั่นใจโตตามเป้า น้ำท่วมดันกำลังผลิตเรือไฟเบอร์กลาส สุขาเคลื่อนที่ประตู วงกบเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย
ผู้ประกอบการหวังปี 2554 เกาะกระแสคอนโดฯ บูม เติบโตต่อเนื่อง ยังห่วงค่าเงินแข็ง เศรษฐกิจอเมริกา-ยุโรป ฉุด
นายประสงค์ เพิ่มอารยวงศ์ นายกสมาคมไทยคอมโพสิท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟลูอิด โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ไทย คอมโพสิท
จำกัด และบริษัท จีอาร์อี คอมโพสิท จำกัด ผู้นำเข้าและผลิตท่อร้อยสายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาส เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า
สถานการณ์อุตสาหกรรมคอมโพสิตในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมายังคงมีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าภาพรวมทั้งปีจะเติบโตขึ้น
10-15% เมื่อเทียบกับปี 2552 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอมโพสิตได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ โดยกลุ่ม
สินค้าประเภทเรือไฟเบอร์กลาส ถังน้ำ อุปกรณ์ก่อสร้างบางชนิดสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนหลังน้ำท่วมมีความต้องการใช้
สูงขึ้นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันสินค้ากลุ่มท่อหรือถังน้ำที่ใช้ในโครงการของภาครัฐ หรือการก่อสร้างบางรายการต้องหยุดชะงักไป

นายพิชัย วราฤทธิชัย เลขาธิการสมาคมไทยคอมโพสิท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนกรีต คอมโพสิท จำกัด ผู้นำเข้า-จำหน่าย
วัตถุดิบคอมโพสิต และผลิตหลังคา-พื้นผิวคอมโพสิตสำหรับงานก่อสร้างรวมถึงแท็งก์สำหรับขนส่งในธุรกิจโลจิสติกส์ ระบุว่า
ภาวะน้ำท่วมได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอมโพสิตมีการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าหลายประเภท โดยในส่วนของบาน
ประตูไฟเบอร์กลาสขณะนี้บริษัทได้เดินกำลังการผลิตเต็ม 100% มีการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปกติที่ผลิตราว 600 บานต่อเดือน
ต้องเพิ่มแม่พิมพ์และแรงงานเข้ามารองรับความต้องการในส่วนนี้

ด้านการผลิตเรือไฟเบอร์กลาสนั้น จากที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการส่งมอบวันละ 100 ลำต่อวัน
แต่ในช่วงน้ำท่วมมีการผลิตเพิ่มเป็น 1,000 ลำต่อวัน ส่วนผลิตภัณฑ์สุขาเคลื่อนที่นั้น จากเดิมที่จะผลิตตามออร์เดอร์ประมาณ 3-5
ตัวต่อวัน ก็เพิ่มเป็น 100 ตัวต่อ 3 วัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตไม่ได้มีการฉวยโอกาสเพิ่มราคาสินค้าในช่วงที่ความต้องการสูง แต่ได้มีการลด
ราคาและบริจาคเพิ่มเติมเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย

เมื่อพิจารณาในภาพรวมของอุตสาหกรรมคอมโพสิต การขยายกำลังการผลิตในภาวะน้ำท่วมนับเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น อาจไม่มี
ผลชัดเจนต่ออัตราการเติบโตโดยรวม แต่มั่นใจว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้ว่าในปีนี้อุตสาหกรรมคอมโพสิตจะขยายตัว 10-15%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ยังคงเป็นไปตามเป้า ทั้งนี้ ประมาณการว่า มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมคอมโพสิตใน
ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมคอมโพสิตในปี 2554 เชื่อว่ายังมีทิศทางเป็นบวก จากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการก่อสร้างใหม่หลายโครงการทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้สินค้าคอม
โพสิตในกลุ่มก่อสร้าง เช่น ประตู หน้าต่าง วงกบ รวมถึงถังไฟเบอร์กลาสต่างๆ มีการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่
มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมคอมโพสิตที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในภาคการส่งออกนั้น ยังมีความกังวลในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพ
ยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม ก็ยังเป็นปัจจัยที่
ต้องจับตา โดยผู้ประกอบการไทยพยายามหนีจากการแข่งขันดังกล่าวด้วยการพัฒนาด้านการออกแบบสินค้า

อนึ่ง ผลิตภัณฑ์ คอมโพสิต เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสนับสนุน (Support Industry) ซึ่งผลิตสินค้าป้อนให้กับอุตสาหกรรม
หลักหลายกลุ่ม เช่น การผลิตหลังคารถ โคมไฟรถยนต์ ฝากระโปรงด้านในรถยนต์ ป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตถัง
บำบัดน้ำเสีย ถังบรรจุน้ำ ประตูและวงกบไฟเบอร์กลาส แผ่นคอนกรีต ป้อนให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ การผลิตท่อลำเลียง
ของเหลว ท่อร้อยไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งนี้ อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์คอมโพสิตของคนไทย
ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปี มีมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมคอมโพสิตในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 100,000
ล้านบาท โดยในส่วนของสมาคมไทยคอมโพสิทซึ่งมีสมาชิกประมาณ 60 โรงงาน มีมูลค่าตลาดรวมราว 10,000 ล้านบาท