27/07/2553 V&Bเร่งขยายกำลังผลิตเพิ่มเท่าตัว ตั้งเป้าผู้นำสุขภัณฑ์ไฮเอนด์-ปักธงโชว์รูมเวียดนาม นายสุเมธ อินทามระ ผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท นาม สุขภัณฑ์ จำกัด ในกลุ่ม Villeroy & Boch ผู้ผลิตสุขภัณฑ์แบรนด์ Villeroy & Boch (V&B) และ "นาม" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นับตั้งแต่ Villeroy & Boch หรือ V&B ผู้ผลิตสุขภัณฑ์รายใหญ่จากประเทศเยอรมนีได้เข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทเมื่อ 1 ปีเศษที่ผ่านมา เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นหนึ่ง ในฐานการผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศลงทุนขยายกำลังการผลิตสุขภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 5 แสนชิ้น/ปี เป็น 1 ล้านชิ้น/ปี ในอนาคตจะกลายเป็นโรงงานทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะได้นำเทคโนโลยีโรบอต (หุ่นยนต์) เข้ามาใช้ในการผลิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรในส่วนของโรบอต ซึ่งล่าช้าจากแผนเดิมเล็กน้อย สำหรับนโยบายของ V&B นับจากนี้แบ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ นโยบายตลาดในประเทศ และนโยบายตลาดส่งออกโดยเฉพาะการขยายตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ล่าสุดเริ่มมีการนำสินค้าบางรุ่นมาผลิตในประเทศไทยแล้ว เป็นสุขภัณฑ์ระดับกลางที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1 หมื่นบาท นโยบายตลาดในประเทศ V&B เริ่มต้นจากการรุกตลาดเซ็กเมนต์ไฮเอนด์ มี เป้าหมายต้องการครองส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเมนต์นี้ให้ได้มากที่สุด ล่าสุดเพิ่งร่วมกับบริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านหรูย่านเอกมัย-รามอินทรา เปิดตัวโชว์รูมแห่งแรกในโครงการคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ (CDC) ใช้งบฯลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท โดยนำเสนอสุขภัณฑ์ที่มีระดับราคาตั้งแต่หมื่นบาทไปจนถึงหลายแสนบาท ส่วนแบรนด์ "นาม" ที่เป็นของบริษัทแต่เดิมก็ยังคงอยู่ แต่จะปรับมาทำตลาดในลักษณะ second brand จับตลาดตั้งแต่กลาง-กลางบน "แนวทางของ V&B จะไม่มีการสต๊อกสินค้า เพราะเป็นสินค้าไฮเอนด์มาก ๆ คือจะผลิตตามออร์เดอร์ หรือเมดทูออร์เดอร์ นอกจากนี้ยังมีบางรุ่นที่สามารถสั่งผลิตตามความต้องการลูกค้าได้ด้วย" ส่วนนโยบายตลาดต่างประเทศ V&B ให้ความสนใจตลาดอาเซียน เนื่องจากการ มีโรงงานในประเทศไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยประเทศที่ให้ความสนใจ คือ เวียดนาม เพราะเมื่อศึกษาข้อมูลแล้วพบว่ามีประชากรที่มีฐานะและรสนิยมดีอยู่มากพอสมควรจึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ได้เปิดตัวโชว์รูมแห่งแรกในเวียดนามที่เมืองฮานอยและโฮจิมินห์ฯ ใช้งบฯลงทุนคิดเป็นเงินไทยเฉลี่ยแห่งละประมาณ 10 ล้านบาท จากที่ผ่านมามีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายผ่าน อิมพอร์ตเตอร์บ้าง อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต คงจะต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเซ็กเมนต์หรือไม่ เช่น แบรนด์ "นาม" จะลงมาจับตลาดแมส ส่วนแบรนด์ V&B จะจับตลาดตั้งแต่ไฮเอนด์ลงมาถึงระดับกลาง หรืออนาคตแบรนด์นามอาจจะหายไปจากตลาดเลยก็ได้เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าในแง่ระดับราคามีสินค้าบางรุ่นที่มีเซ็กเมนต์ทับซ้อนกันอยู่ "อนาคตคงต้องมีการกำหนดเซ็กเมนต์ของทั้ง 2 แบรนด์ให้ชัดเจน อย่างปัจจุบันนามก็มีสุขภัณฑ์รุ่นอูฟูโร่ที่มีราคาประมาณ 7 หมื่นบาท ถือว่าเป็นเซ็กเมนต์ไฮเอนด์เหมือนกัน" นายสุเมธกล่าว>