30/10/2563

โรดแมป SCG ลุยอิฐมวลเบา ปั้น คิวคอน ฟื้นขาดทุนพลิกทำกำไร

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "ปูนซิเมนต์ไทย" (เอสซีจี) ยักษ์ใหญ่วงการวัสดุก่อสร้าง เซอร์ไพรส์ ด้วยการเข้าซื้อหุ้น
51% จาก "คิวคอน" (บมจ.ควอลิตี้ คอนสตรัคชั่น โปรดัคส์) ผู้ผลิตอิฐมวลเบารายใหญ่อันดับหนึ่ง หลังจากดีล
จบลงตามกฎตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เอสซีจี ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ (คำเสนอซื้อหุ้น) จากผู้ถือหุ้น
รายย่อย ทำให้ปัจจุบันเอสซีจี มีสัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 65%

จากดีลที่เกิดขึ้น ประมาณการว่าเอสซีจีใช้เงินลงทุนกับคิวคอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท แน่นอนว่า การ
พลิกฟื้นคิวคอนจากบริษัทที่เคยมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คือภารกิจ ที่ต้องเร่งทำ
"เป้าหมายในปีนี้ คือต้องขายให้ได้ มากที่สุด ในใจอยากขายให้ได้ถึง 10 ล้าน ตร.ม." พิชิต ไม้พุ่ม ซีอีโอกลุ่ม
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

อาจเป็นเพราะเอสซีจีประเมินว่า ภาพรวมงานผนังในแต่ละปี น่าจะมีความต้องการใช้อิฐและบล็อกก่อผนังทุก
ประเภทรวมกัน 300 ล้าน ตร.ม. ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้อิฐมวลเบาในปีนี้ น่าจะ อยู่ที่ 15 ล้าน ตร.ม.
หรือ 5% เท่านั้น นั่นหมายความว่า อิฐมวลเบายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์
เศรษฐกิจที่กำลังสั่นคลอนจากปัญหาการเมือง บวกกับภาพรวมตลาดอิฐมวลเบาที่มีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายมา
อย่างต่อเนื่อง การทำยอดขาย 10 ล้าน ตร.ม. ก็ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะหมายความว่า เอสซีจีจะต้อง
ทำยอดขายให้ได้ถึงกว่า 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ขณะที่คู่แข่งรายอื่น ๆ อาทิ ซุปเปอร์บล็อก, ซีซีพี, ไทย
ไลท์บล็อกแอนด์พาแนล (ไทยคอน) ฯลฯ ก็คงไม่ให้คิวคอนเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ได้ง่าย ๆ

ปัจจุบันคิวคอนมีโรงงานผลิตทั้งหมด 4 แห่ง แยกเป็นโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง และระยอง 1
แห่ง มีกำลังผลิตรวม 12 ล้าน ตร.ม. ต่อปี หรือโรงงานละ 3 ล้าน ตร.ม.ต่อปี ตามแผนที่วางไว้ เอสซีจีจะใช้จุด
แข็งเรื่อง "ช่องทางจำหน่าย" ร้านโฮมมาร์ท ที่มีอยู่ทั่วประเทศ กระจายสินค้าให้ได้ มากที่สุด โดยมี "ถาวร วิทราย
คำ" อดีตกรรมการผู้จัดการ "เอสซีจี แลนด์สเคป" (ชื่อเดิมสยามซีแพคบล็อค) เข้ามารับบทบาทผู้บริหาร ใน
ฐานะเอ็มดี คนใหม่ของคิวคอน อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้กันว่า ก่อนการเทกโอเวอร์กิจการ "คิวคอน" เอสซีจีก็มี
โรงงานผลิตอิฐมวลเบาของตัวเองอยู่แล้วในจังหวัดสระบุรี โดยอยู่ภายในการบริหารงานของเอสซีจี แลนด์สเคป
และผลิตอิฐมวลเบาภายใต้ แบรนด์ "ซีแพค"

ดังนั้น เมื่อได้โรงงานคิวคอนเข้ามา จึงต้องมีการวางแผนการขาย เพื่อไม่ให้สินค้าทั้ง 2 แบรนด์ทำตลาดทับซ้อน
กันเอง คล้าย ๆ กับกรณีธุรกิจกระเบื้อง ปูพื้นบุผนัง ที่เอสซีจีเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ผู้ผลิตอีก 2 ราย คือโสสุโก้
เซรามิค และไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่

โดยระยะแรก เอสซีจีเลือกใช้วิธีการแบ่งโซนและกลุ่มลูกค้ากันทำตลาด สำหรับแบรนด์ "คิวคอน" จะขายใน
พื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งลูกค้างานโครงการและ การขายผ่านร้านโฮมมาร์ท ส่วนตลาด ต่างจังหวัดจะขายเฉพาะงาน
โครงการเท่านั้น ขณะที่แบรนด์ "ซีแพค" จะขายเฉพาะในต่างจังหวัดผ่านร้านโฮมมาร์ทเท่านั้น

ส่วนในระยะยาว เอสซีจีมีการวาง ยุทธศาสตร์สินค้าทั้ง 2 แบรนด์ไว้ อย่างชัดเจน โดยโรงงาน "คิวคอน" จะขาย
เฉพาะผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ "อิฐมวลเบา" เป็นก้อนเท่านั้น ส่วนในอนาคต โรงงาน"ซีแพค" จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน
รูปแบบ ไปผลิตสินค้ามวลเบาในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ผนังมวลเบา รวมไปถึงสินค้าเชิงนวัตกรรมสำหรับงาน
แลนด์สเคป ทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของทีมวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์จะต้องเข้ามาสานต่อ

จากแผนธุรกิจที่วางไว้ เอสซีจี หมายมั่นที่จะพลิกฟื้นคิวคอน จากบริษัท ที่เคยมีผลประกอบการขาดทุน ให้กลับมา
มีกำไรได้เร็วที่สุด เหมือนเช่นที่ทำได้ หลังจากเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่มาแล้ว>