25/04/2555

สถาปัตยกรรมแบบพอเพียง

นักออกแบบมักจะโยงความคิดสร้างสรรค์กับงบประมาณหรือราคา อย่างเช่น งานออกแบบเสื้อผ้าหรู กระเป๋าหนังราคาแพง รถยนต์ทรงเฉี่ยว สิ่งก่อสร้างหรูหรา จนทำให้เข้าใจว่างานออกแบบสร้างสรรค์มุ่งสนองประโยชน์ใช้สอยหรือความต้องการของคนรวยเท่านั้น ยิ่งการออกแบบในสภาวะจำกัดเรื่องงบประมาณหรือที่ตั้ง ยิ่งไม่เป็นที่ต้องการของนักออกแบบหรือการออกแบบแต่อย่างใด ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งก่อสร้างที่เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองในทุกวันนี้ >

วิกฤติเศรษฐกิจที่ครอบคลุมไปทั่วโลกขณะนี้ ผู้คนทั่วทุกแห่งหนตกระกำลำบาก คนว่างงานไม่มีเงินมีมากมาย ในขณะที่งานพัฒนาการก่อสร้างหดหาย เพราะรัฐบาลก็เดือดร้อนกระเป๋าฉีก ไม่มีงบประมาณเช่นกัน

ปรากฏว่ามีสถาปนิกบางคนที่ทุ่มพลังความคิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ขึ้นมาในภาวะวิกฤติ ที่มีข้อจำกัดทั้งเงินทองและสถานที่ อย่างเช่น โรงภาพยนตร์ 2 แห่งในอังกฤษที่นำเสนอฉบับนี้ **โรงภาพยนตร์แห่งแรก อยู่ใต้ทางด่วนยกระดับสาย A12 ชานกรุงลอนดอน รูปแบบจึงไม่เหมือนโรงภาพยนตร์ทั่วไปในบ้านเรา หากดูคล้ายบ้านก่ออิฐแบบชนบทอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ถูกดัดแปลงเพิ่มบันไดยักษ์และเฉลียงเป็นที่นั่งชมภาพยนตร์ทั้งตัวบ้าน พื้นที่นั่งและผนังที่ดูคล้ายอิฐก่อแบบอังกฤษนั้น ที่จริงเป็นไม้ที่ตัดมาจากตู้รถไฟเก่า ซึ่งมีขนาดเท่าอิฐ แล้วนำไปก่อหรือต่อกันจนเป็นรูปร่าง

เครื่องฉายก็ยึดติดกับท้องพื้นทางด่วน ทางระบายน้ำที่อยู่ด้านข้างก็ดัดแปลงปรับปรุงเป็นสระน้ำสำหรับพายเรือเล่น รวมทั้งมีร้านกาแฟหรือบาร์เล็กๆ เปิดให้บริการด้วย

สถาปนิกนิรนาม กล่าวว่า โรงภาพยนตร์กลางแจ้งแห่งนี้ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ในการสร้าง ใช้เวลาไม่กี่วันในการออกแบบ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการนำเสนอขออนุญาตจากเทศบาล และใช้เวลาไม่กี่นาทีในการขอการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท Merrill Lynch   

เรื่องที่เล่าขานยังโดนใจบรรดาอาสาสมัครกว่าร้อยคน ที่มีจิตอาสามาร่วมด้วยช่วยสร้างโรงภาพยนตร์ สำหรับชุมชนที่กำลังย่ำแย่เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ ช่วยลดความเครียดให้กับคนว่างงานที่จะมีกิจกรรมบันเทิงไว้พักผ่อนบ้าง

โรงภาพยนตร์ขนาด 120 ที่นั่งแห่งที่ 2 สร้างโดยแรงงานอาสาสมัครจำนวน 50 คนเช่นกัน ออกแบบโดยบัณฑิตใหม่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สถาปนิกรุ่นใหม่ 15 คน ช่วยกันคิดและออกแบบโรงภาพยนตร์แบบประหยัด ด้วยงบประมาณเพียงแค่ 4 แสนบาทเท่านั้น โดยการปรับปรุงปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งชานกรุงลอนดอน ซึ่งเป็น 1 ในปั๊มน้ำมัน 64,000 แห่งที่เลิกกิจการไปแล้ว ให้เป็นโรงภาพยนตร์ในชื่อ ซิเนโรเลียม Cine (Pet) Roleum

ตามสภาพทั่วไปปั๊มน้ำจะมีหลังคาผืนใหญ่คลุมพื้นที่และไม่มีเสาเกะกะมากอยู่แล้ว สถาปนิกเพียงแค่ออกแบบม่านผ้าใบผืนใหญ่ปิดโดยรอบ นอกจากช่วยป้องกันฝนกันแสงแล้ว ยังช่วยดูดซับเสียงและม้วนเก็บได้ในเวลาไม่ใช้งาน มีการนำเอาไม้เก่าจากโรงงานมาประกอบเป็นเก้าอี้ที่นั่งสลับกับเก้าอี้เก่าที่เหลือจากโรงภาพยนตร์จำนวนไม่มาก

ทุกวันนี้โรงภาพยนตร์เปิดให้บริการอาทิตย์ละ 4 รอบ โดยมีรายได้จากค่าบัตรเข้าชมราคาประหยัด ทำให้สามารถเปิดบริการให้กับชาวอังกฤษที่กำลังเดือดร้อน แต่มีเวลาว่างเพราะตกงาน

อันที่จริงพื้นที่ใต้ทางด่วนบ้านเราที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ยังมีอีกมากมาย ยังมีพื้นที่ใต้สถานีรถไฟลอยฟ้า ใต้สะพานลอย หรือใต้ทางข้ามยกระดับ เช่น เดียวกับปั๊มน้ำมันร้างก็มีอยู่กับเขามากเหมือนกัน อีกทั้งนิสิตนักศึกษาสถาปัตย์บ้านเราก็มีจำนวนมากมาย เพราะมีโรงเรียนสถาปัตย์เปิดสอนทั่วประเทศ

จะมีสักวันไหมที่คนไทยจะได้เห็นงานออกแบบธรรมดา ที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่างานออกแบบฉาบฉวย ลอกตามแมกกาซีนฝรั่ง หรือรูปทรงทันสมัย ใช้วัสดุและมาตรฐานฝรั่งเท่านั้น