"
• อนาคตลูกจะมั่นคงหรือสดใสได้ ส่วนประกอบสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมเรื่องการเงินให้กับลูก ทั้งเงินเก็บ เงินลงทุน หรือแม้แต่การรับมือกับค่าใช้จ่ายยามลูกเจ็บป่วย
• เตรียมเงินเพื่อลูก นอกจากต้องมีจำนวนให้เพียงพอแล้ว ทางเลือกก็เป็นสิ่งสำคัญ ด้วยวัตถุประสงค์และระยะเวลาใช้เงินที่ต่างกันทางเลือกที่เหมาะสมก็ย่อมต่างกัน
"
อนาคตลูกต้องวางแผน คนเป็นพ่อแม่หลายคนรู้ดีเพราะมีเรื่องของเงินทองต่างๆ มากมายที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้มั่นใจว่าลูกจะมีอนาคตที่ดี แล้วมีเรื่องใดที่ต้องเตรียมและทำอย่างไรได้บ้าง K WEALTH มีคำตอบมาให้กับพ่อแม่ทุกคน
1) ลูกเจ็บป่วย ต้องมีค่ารักษา
ลูกเล็ก โดยเฉพาะช่วงอายุไม่ถึง 10 ปี เป็นวัยที่เจ็บป่วยบ่อย แต่ละครั้งถ้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายมีให้เห็นเป็นหลักหมื่นเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งง่ายๆ ที่พ่อแม่เตรียมได้ คือ เงินสดหรือวงเงินบัตรเครดิตให้พร้อม และใช้ทางเลือกชำระเงินที่ได้ส่วนลดหรือโปรโมชัน ซึ่งหากครอบครัวไหนมีโรงพยาบาลที่ใช้ประจำสามารถสอบถามส่วนลดหรือโปรโมชันได้จากเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาล เช่น บัตรเครดิตร่วมกรุงเทพดุสิตเวชการ – กสิกรไทย ที่มีส่วนลดค่ายา ค่าห้อง ฯลฯ โรงพยาบาลเครือ BDMS เป็นต้น
ส่วนการมองหาประกันสุขภาพสักฉบับเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเมื่อลูกเจ็บป่วย ก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าลงได้ เช่น สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ แบบแยกค่าใช้จ่าย Health Care Plus สำหรับลูกที่อายุไม่เกิน 10 ปี ที่มีวงเงินค่ารักษาแต่ละรายการรวมกันเมื่อนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้งสูงสุดประมาณ 15,000 – 40,000 บาท หรือสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ D Health Plus สำหรับลูกที่อายุ 11 ปีขึ้นไป ที่มีวงเงินค่ารักษาสำหรับการนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้งสูงสุด 5 ล้านบาท ค่าเบี้ยอยู่ที่ปีละ 10,000 – 35,000 บาท อยากให้พ่อแม่ลองเลือกดูตามวงเงินหรือค่าเบี้ยที่เหมาะสมกับลูกตนเองดู
2) ค่าใช้จ่ายของลูก ที่ต้องมี
ค่าใช้จ่ายประจำวันของลูก เช่น ค่าอาหาร ค่าขนม ค่าเดินทาง ฯลฯ ที่ต้องจ่ายทุกวัน เป็นสิ่งที่แพงขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างเงินเฟ้อของไทยล่าสุดเดือน ธ.ค. 65 อยู่ที่ 5.89% เช่น ค่าขนมลูกเดือน ธ.ค. 64 ที่เคยจ่ายเดือนละ 10,000 บาท แต่เดือน ธ.ค. 65 แม้ซื้อของเท่าเดิมอาจต้องจ่ายเพิ่มเป็น 10,589 บาท และถ้าเงินเฟ้อยังคงเท่าเดิม ธ.ค. ปีต่อไปอาจต้องจ่ายถึงเดือนละ 11,213 บาท เป็นต้น ในขณะที่รายได้ของพ่อแม่ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนจากงานประจำ กำไรจากทำธุรกิจ ก็อาจโตได้ไม่ทันกับเงินเฟ้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอย่างในช่วงที่ผ่านมา
การเก็บเงินให้ลูกในทางเลือกที่ให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเพื่อเร่งให้เงินที่เก็บโตมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบของเงินเฟ้อลงได้บ้าง อย่างเงินฝาก e-Savings ที่หลายธนาคารให้ดอกเบี้ย 1.5%-2%ต่อปี หรือคิดเป็น 6-8 เท่าของออมทรัพย์ทั่วไป
3) ทุนการศึกษาลูก ที่ต้องเตรียม
ตั้งแต่ลูกเข้าโรงรียนจนถึงจบปริญาตรี-โท เพื่อให้มีงานทำดูแลตนเองได้ ต้องใช้เวลานานถึง 19-21 ปี เงินที่ต้องจ่ายเพื่อเป็นทุนการศึกษาก็ไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย หากใครพอมีกำลังทรัพย์อาจเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าได้ 2-3 ปีขึ้นไป โดยทางเลือกเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูกมีอยู่มากมาย ซึ่งหลักๆ ควรเป็นทางเลือกที่มีความมั่นคง ความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน แต่หากสามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าได้ยาวกว่า 5 ปี ก็สามารถเลือกลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้เพื่อประหยัดเงินต้นที่ใช้ได้ เช่น
- เงินฝากประจำ แบบยิ่งฝากนานยิ่งได้ดอกเบี้ยเพิ่มหรือที่เรียกว่าดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเงินฝากขั้นบันไดอาจมีระยะเวลาให้เลือก 15-36 เดือน บางธนาคารอาจให้ดอกเบี้ยช่วงท้ายๆ สูงถึง 5%ต่อปี โดยเมื่อเฉลี่ยดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ที่ 1.2%-2%ต่อปี
- หุ้นกู้เอกชน ที่เริ่มให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา เช่น หุ้นกู้ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2564 ที่เสนอขายช่วง ก.พ. 64 และครั้งที่ 5/2565 ที่เสนอขายช่วง พ.ย. 65 สำหรับรุ่นอายุ 5 ปี 9 เดือนเหมือนกัน แต่มีการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 4.5%ต่อปี เป็น 5.05%ต่อปี เป็นต้น ซึ่งหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในช่วงปี 2566 นี้ ก็มีแนวโน้มให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ที่อายุและอันดับความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกันที่ออกมาก่อนหน้านี้ตามทิศทางดอกเบี้ยตลาดด้วย
- ประกันชีวิตสะสมทรัพย์แบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียว ที่มีเงินคืนและเงินครบสัญญาในจำนวนที่แน่นอนตามสัญญา ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหุ้นกู้ เพียงแต่แบบประกันและอายุสัญญาจะแตกต่างกันในแต่ละบริษัทประกัน ซึ่งอาจมีทั้งอายุสัญญา 3 ปี 10 ปี หรือ 11 ปี เป็นต้น โดยพ่อแม่สามารถเลือกแบบประกันที่มีเวลาครบสัญญา สอดคล้องกับระดับชั้นการศึกษาที่ลูกจะใช้เงินได้
- ประกันชีวิตสะสมทรัพย์แบบทยอยเก็บเงิน อย่างประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 1525 ซึ่งด้วยทุนประกันที่เท่ากัน (เงินคืนและเงินครบสัญญาเท่ากัน) การเก็บเงินด้วยชื่อลูกจะใช้เงินเก็บในจำนวนที่น้อยกว่าการเก็บเงินด้วยชื่อพ่อแม่ เช่น ทุนประกัน 1 ล้านบาท (เงินคืนรวม 1.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินคืนปีละ 10,000 บาท 24 ปี และเงินครบสัญญา 1.26 ล้านบาท) หากเก็บเงินด้วยชื่อคุณพ่อ อายุ 40 ปี ต้องเก็บด้วยเบี้ยประกันปีละ 81,380 บาท (รวม 15 ปี 1,220,700 บาท) แต่หากเก็บเงินด้วยชื่อลูกชาย อายุ 3 ปี เหลือเก็บด้วยเบี้ยประกันปีละ 75,800 บาท (รวม 15 ปี 1,137,000บาท) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการเก็บเงินด้วยประกันชีวิตในชื่อของลูก มีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ หากคุณพ่อ(หรือคุณแม่) ซึ่งเป็นผู้ชำระเบี้ยเกิดเสียชีวิตหรือทุพพลภาพในระหว่างที่ยังชำระเบี้ยไม่ครบ 15 ปี คนในครอบครัวจำเป็นต้องชำระเบี้ยต่อเพื่อให้ลูกยังคงได้รับเงินคืนต่างๆ เท่าเดิม หรือคุณพ่ออาจเลือกเพิ่มความคุ้มครองยกเว้นการจ่ายเบี้ยส่วนที่เหลือ หากผู้ชำระเบี้ยเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ (PB Plus) ซึ่งจากตัวอย่างนี้คุณพ่อสามารถเลือกเพิ่มความคุ้มครองนี้ได้ด้วย เบี้ยสัญญาเพิ่มเติม PB Plus ปีละ 5,701 บาท (สำหรับปีแรก) เป็นต้น
- กองทุนรวมผสม สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้หรือเคยมีประสบการณ์ลงทุนมาก่อน อาจเลือกลงทุนกองทุนผสมอย่าง K-PLAN3 ที่มีนโยบายการลงทุนหุ้นไม่เกิน 55% ซึ่งหากพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 3.83%ต่อปี (ณ 30 ธ.ค. 65) หากพ่อแม่ลงทุนทุกต้นปีๆ ละ 75,800 บาท เป็นเวลา 15 ปี และปล่อยให้เงินได้เติบโตต่ออีก 10 ปี จนครบ 25 ปี (เช่นเดียวกับ ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 1525) เงินลงทุนมีโอกาสเติบโตเป็นประมาณ 2.26 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5 เท่า เทียบกับเงินที่ได้จากประกันชีวิตสะสมทรัพย์
สำหรับพ่อแม่คนไหนที่เตรียมพร้อมเรื่องเงินให้กับลูกเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเช็กสิทธิต่างๆ ที่พ่อแม่มีได้จากภาครัฐ เพราะเรื่องเงินทอง นอกจากการเตรียมและสอนลูกแล้ว การเพิ่มเงินในกระเป๋าหรือลดค่าใช้จ่ายบางอย่างจากสิทธิต่างๆ ที่มี ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ส่วนสิทธิที่ว่ามีอะไรบ้างนั้นหาคำตอบเพิ่มได้จากบทความของ K WEALTH เรื่อง “อัปเดต! รัฐสวัสดิการของคนมีลูก”