กองทุน SSF คืออะไร? รวมเงื่อนไข วิธีลงทุน และสิทธิลดหย่อนภาษีที่ควรรู้

สำรวจทางเลือกการลงทุนและลดหย่อนภาษีที่หลากหลายกับกองทุน SSF ที่ไม่จำกัดแค่หุ้นไทย พร้อมทั้งเงื่อนไขและผลตอบแทนที่น่าสนใจ รวมถึงทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุน Thai ESG และ RMF ที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว และประกันชีวิตที่สร้างหลักประกันก้อนโตให้ครอบครัว

  • กองทุน SSF มีทางเลือกการลงทุนที่ไม่จำกัดแต่เพียงหุ้นไทย อีกทั้งหลังลงทุนแล้ว ยังสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ด้วยกันเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนหรือลดความเสี่ยงได้
  • กองทุน SSF ที่ผู้เสียภาษีเงินได้ทุกคนลงทุนได้ โดยเฉพาะคนอายุน้อยกว่า 45 ปี หรือลงทุน Thai ESG เต็มสิทธิแล้ว หรือคนที่ต้องการเงินคืนระหว่างทางที่ลงทุน
  • นอกจากกองทุน SSF แล้ว ยังมีทางเลือกลดหย่อนภาษีอื่นอีก เช่น กองทุน Thai ESG, กองทุน RMF เพื่อเพิ่มผลตอบแทน หรือประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพที่สามารถสร้างหลักประกันก้อนโตให้คนในครอบครัวหลักล้าน รวมถึงประกันสุขภาพที่ให้วงเงินค่ารักษาพยาบาลหลักล้านได้เช่นกัน

กองทุน SSF ที่เริ่มใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมาได้ตั้งแต่ปี 2563 หลังการสิ้นสุดการใช้สิทธิของกองทุน LTF แล้วกองทุน SSF คืออะไร เงื่อนไขอย่างไร มีจุดเด่นกว่ากองทุนลดหย่อนภาษีอื่น อย่าง LTF Thai ESG และ RMF ตรงไหน K WEALTH มีคำตอบมาฝากทุกคนกัน



I: SSF คืออะไร? รู้จักกองทุน SSF และประโยชน์ทางภาษี

กองทุน SSF มีชื่อเต็มว่า Super Savings Fund หรือกองทุนรวมเพื่อการออม ที่ออกมาเพื่อส่งเสริมให้คนวัยทำงานที่มีรายได้ต้องเสียภาษีให้ความสำคัญกับการออมหรือลงทุนระยะยาว โดยการจูงใจด้วยสิทธิลดหย่อนภาษี ที่มีลักษณะและเงื่อนไขหลายอย่างที่น่าดึงดูดให้น่าลงทุนมากกว่ากองทุน LTF เช่น

  • ทางเลือกการลงทุนหลากหลาย ทั้งตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ และกองทุนผสม อีกทั้งระหว่างการถือเงินลงทุนยังสามารถสับเปลี่ยนไปกองทุน SSF ภายใต้ บลจ.เดียวกันได้ ไม่จำกัดแต่เพียงการลงทุนหุ้นไทยเหมือนกองทุน LTF
  • นับระยะเวลาการลงทุนแบบวันชนวัน ทำให้ยิ่งลงทุนเร็วตั้งแต่ต้นปี หรือทยอยลงทุนแบบ DCA จะมีเงินส่วนที่ครบกำหนดเร็วกว่าการรอลงทุนครั้งเดียวตอนสิ้นปี

II: SSF เงื่อนไขสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้

เงื่อนไขการลงทุนในแต่ละปี

  • ลงทุนได้สูงสุด 30%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี (เช่น เงินเดือนและโบนัสรวมทั้งปี ก่อนหักประกันสังคม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย) แต่ไม่เกินปีละ 200,000 บาท
  • เมื่อรวมกับกองทุน RMF + เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กบข. + กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน + กอช. ใช้สิทธิได้รวมกันสูงสุด ปีละ 500,000 บาท
  • เงินลงทุนแต่ละครั้ง ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีเต็ม นับแบบวันชนวัน
  • ไม่มีขั้นต่ำการลงทุนในแต่ละปี และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง

ผลกระทบ เมื่อขายก่อนกำหนด

  • หน่วยที่ขายคืนแต่ละครั้ง ถูกนับโดยวิธี “เข้าก่อนออกก่อน (FIFO)” หรือก็คือการขายหน่วยลงทุนที่ลงทุนมานานที่สุดก่อน
  • ต้องคืนภาษีที่เคยได้ลดหย่อนมา จากปีที่ซื้อหน่วยลงทุนนั้น พร้อมเงินเพิ่มอีก 1.5%ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ของปีถัดจากปีที่ลงทุน จนถึงเดือนที่นำเงินภาษีไปยื่นคืนสรรพากร
  • หากการขายคืนมีกำไร ต้องนำกำไรนั้นไปยื่นและชำระภาษี พร้อมกับรายได้อื่นที่ได้รับในปีเดียวกับที่ขายคืนด้วย

III: กองทุน SSF เหมาะกับใคร?

  • ทุกคนที่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะถ้าอายุน้อยกว่า 45 ปี จะมีระยะเวลาถือครองที่สั้นกว่ากองทุน RMF
  • ต้องการลงทุนสินทรัพย์อื่นนอกจากหุ้นหรือตราสารหนี้ไทย อย่างหุ้นต่างประเทศ เช่น หุ้นเวียดนาม (K-VIETNAM-SSF) หุ้นสหรัฐฯ (K-USA-SSF) เป็นต้น
  • คนที่ปีนี้ลงทุนกองทุน Thai ESG เต็มสิทธิ 300,000 บาทแล้ว (สรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาขยายเพดาน ในปี 67) ยังมีเงินลงทุนและต้องการใช้สิทธิเพิ่มอีก
  • ต้องการเงินคืนระหว่างการลงทุนในรูปแบบเงินปันผล สามารถเลือกลงทุนกองทุน SSF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลได้ เช่น K-GINCOME-SSF

IV: เลือกลงทุนกองทุน SSF อย่างไร

  • เลือกจาก ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
    • รับความเสี่ยงได้ต่ำ-ปานกลาง สามารถเลือก K-GINCOME-SSF ที่เป็นกองทุนผสมลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มีผู้จัดการกองทุนบริหารเงินลงทุน มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการลงทุนกองทุน SSF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ และมีโอกาสขาดทุนได้ต่ำหากถือลงทุน 10 ปีขึ้นไป
    • รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำเลือกลงทุนตามกองทุนหุ้น ที่เป็นกองทุน SSF แนะนำของ K WEALTH ประจำเดือน ก.ค. 67 เช่น K-VIETNAM-SSF K-USA-SSF และ K-CHANGE-SSF
  • เลือกจาก จังหวะลงทุน
    • หากไม่ต้องการจับจังหวะในสินทรัพย์ใดเป็นพิเศษ แนะนำ K-GINCOME-SSF ที่เป็นกองทุนผสม โดยอาจลงทุนครั้งเดียวตามจำนวนที่ต้องการ หรือแบ่งทยอยลงทุน 3 ครั้งขึ้นไปก็ได้
    • หากต้องการจับจังหวะและมองว่าปัจจุบันเป็นจังหวะการลงทุนที่ดี ก็สามารถลงทุน K-VIETNAM-SSF K-USA-SSF หรือ K-CHANGE-SSF ซึ่งเป็นกองทุนแนะนำของ K WEALTH ได้ หรืออาจแบ่งทยอยลงทุน 3 ครั้งขึ้นไปก็ได้
    • หากต้องการจับจังหวะแต่มองว่าปัจจุบันยังไม่ใช่จังหวะการลงทุน สามารถพักเงินใน K-SF-SSF ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก่อนได้ มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ที่ลงทุน 4.08 เดือน ที่ผ่านมาตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เคยขาดทุนสูงสุดเพียง -004% เท่านั้น เช่น ลงทุน 100,000 บาท ขาดทุน 40 บาท (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 67)

V: ทางเลือกลดหย่อนภาษีอื่น นอกจากกองทุน SSF

  • เน้นเก็บเงินหรือลงทุนสั้นๆ แนะนำกองทุน Thai ESG ที่ปี 67 สรรพากรและกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดระยะเวลาการลงทุน จาก 8 ปีเต็ม ให้สั้นลงเหลือ 5 ปีเต็ม เช่น
    • กองทุน K-ESGSI-ThaiESG เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และเกี่ยวข้องกับ ESG
    • กองทุน K-TNZ-ThaiESG เน้นลงทุนในหุ้นไทย ของบริษัทที่อยู่ในดัชนี SET100 ที่มีการตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • เน้นเก็บเงินหรือลงทุนระยะยาว เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ แนะนำ
    • กองทุน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนและความเสี่ยงที่หลากหลายกว่ากองทุน SSF เช่น KSFRMF ที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ KWPBALRMF และ KWPULTIRMF ที่เป็นกองทุนผสมมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย
    • ประกันชีวิต ที่มีเงินคืนในจำนวนแน่นอนตามสัญญา เช่น ประกันชีวิตเพื่อบำนาญแบบลดหย่อนได้ A85/5 ที่ได้เงินคืนเป็นรายปีระหว่างอายุ 55-85 ปี หรือประกัน 80/5 ทริปเปิ้ลเงินก้อน ที่ได้เงินก้อนตอนอายุ 60 ปี 70 ปี และ 80 ปีตามลำดับ
  • เน้นเก็บเงินแบบผลตอบแทนแน่นอนหรือความเสี่ยงต่ำ
    • ประกันชีวิต ที่มีเงินที่ในจำนวนแน่นอนตามสัญญา เช่น ประกันชีวิต 85/5 High Return ที่ได้เงินคืนทุกปี นับตั้งแต่ 1 ปีหลังซื้อประกัน จนถึงอายุ 84 ปี และรับเงินก้อนตอนอายุครบ 85 ปี หรือประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ 315 มีเงินปันผล (Global) ที่นอกจากที่ได้เงินคืนทุกปี นับตั้งแต่ 1 ปีหลังซื้อประกัน ไปจนถึงปีที่ 14 และรับเงินก้อนตอนครบสัญญา 15 ปีแล้ว ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนหรือเงินก้อนเพิ่มเติมตอนครบสัญญา จากการลงทุนโดยไม่กระทบต่อเงินคืนอื่นตามสัญญา
    • กองทุน SSF และกองทุน RMF ที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ที่แม้ไม่มีการการันตีคืนเงินต้นหรือการันตีผลตอบแทน แต่ที่ผ่านมาก็มีความผันผวนต่ำมากและผลตอบแทนย้อนหลังระยะยาวก็แทบไม่เคยขาดทุนเลย เช่น K-SF-SSF และ KSFRMF อีกทั้งในอนาคตยังสามารถเลือกสับเปลี่ยนไปกองทุน SSF หรือ RMF อื่นได้อีกด้วย
  • ต้องการมีหลักประกันเงินก้อนโตให้ครอบครัว หากตนเองเสียชีวิต
    • แนะนำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ ตัวอย่างเช่น ผู้ชาย อายุ 40 ปี หากเลือกใช้สิทธิในประกันชีวิตต่อไปนี้ ด้วยเบี้ยประกันปีละ 100,000 บาทแล้ว
    • ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ 99/5 สามารถสร้างหลักประกันให้ครอบครัวจำนวน 1.1 ล้านบาท ได้ทันทีตั้งแต่ปีแรก หากผู้เอาประกันเสียชีวิต
    • ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ 99/19 สามารถสร้างหลักประกันให้ครอบครัวจำนวน 3.9 ล้านบาท ได้ทันทีตั้งแต่ปีแรก หากผู้เอาประกันเสียชีวิต
    • ต้องการวงเงินค่ารักษาพยาบาล เมื่อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยประกันสุขภาพ เช่น
      • Elite Health Plus ที่มีวงเงินค่ารักษาสูงสุด 20-100 ล้านบาทต่อปี รองรับค่าห้องเดี่ยวมาตรฐานทุกโรงพยาบาล หรืออัปเกรดห้องได้สูงสุดวันละ 10,000-25,000 บาท รวมถึงรองรับการรักษามะเร็งแบบตรงจุด Targeted Therapy การล้างไต และตรวจ MRI ที่ประกันสุขภาพทั่วไปไม่ครอบคลุม
      • D Health Plus ที่มีวงเงินค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 5 ล้านบาทต่อครั้ง รองรับค่าห้องเดี่ยวมาตรฐานทุกโรงพยาบาล สามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันโดยเลือกแผนที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายส่วนเกิน 30,000 บาท และ 100,000 บาท ในช่วงที่ยังมีสวัสดิการจากนายจ้าง แล้วรอปรับแผนเพิ่มความคุ้มครองตอนอายุ 55-65 ปีได้

    ทางเลือกการวางแผนภาษีมีอยู่มากมาย ไม่จำกัดแต่เพียงการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างกองทุน SSF เท่านั้น ผู้มีเงินได้ที่มีภาระต้องเสียภาษี อย่าลืมศึกษาเทคนิคดีๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงและอัปเดตอยู่เสมอด้วยการติดตามข้อมูลดีๆ จากทีมงาน K WEALTH


    Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”, “ทำความเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีและผลกระทบหากทำผิดเงื่อนไขก่อนตัดสินใจลงทุน”