04 ก.ย. 58

สินเชื่อธุรกิจ ยื่นกู้ถูกประเภท เพิ่มโอกาสผ่านฉลุย

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อ/ธุรกิจ

​​​​​สินเชื่อธุรกิจ ยื่นกู้ถูกประเภท เพิ่มโอกาสผ่านฉลุย


“การเลือกใช้สินเชื่อให้ถูกประเภทกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการนำไปใช้
จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อธุรกิจ"
– K-Expert -

          ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุน เพราะต้องการขยายกิจการ หรือกิจการกำลังขยับขยายจนเงินทุนที่มีไม่เพียงพอ การขอสินเชื่อกับธนาคารเป็นอีกทางเลือกหนึ่งค่ะที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายเลือกใช้ แต่ปัจจุบันสินเชื่อสำหรับธุรกิจต้องบอกเลยว่ามีหลากหลายแบบ การชำระเงิน การคิดดอกเบี้ยก็แตกต่างกัน สงสัยกันแล้วใช่มั้ยค่ะ ว่าจะเลือกใช้สินเชื่อแบบไหนดี K-Expert มีคำแนะนำค่ะ

สินเชื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ
          “ขายได้แต่เงินหายไปไหนหมด” ต้องบอกว่ามีหลายกิจการประสบปัญหาแบบนี้ค่ะ มียอดขายสูงแต่ทำไมเงินทุนกลับไม่พอ นั่นอาจเพราะใช้เงินจ่ายซื้อสินค้าไว้ขาย แต่พอขายสินค้าไปแล้วยังเก็บจากลูกค้าไม่ได้ทันที เพราะมีการให้เครดิตกับลูกค้า เช่น ส่งสินค้าให้ไปก่อนแล้วค่อยเก็บเงินทีหลังอีก 30 วันข้างหน้า  หรือที่เรียกกันว่า “เครดิตเทอม” ทำให้กิจการขาดสภาพคล่อง จึงต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม เพื่อสต็อกสินค้าหรือวัตถุดิบ ให้เครดิตกับลูกค้า  รวมทั้งไว้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินกิจการ สำหรับวงเงินหมุนเวียนที่ช่วยเสริมสภาพคล่องของกิจการ ได้แก่
          • เงินเบิกเกินบัญชี (O/D) เป็นวงเงินสินเชื่อที่ใช้คู่กับบัญชีกระแสรายวันค่ะ โดยเวลาที่จะเบิกเงินออกมาใช้จ่ายต้องทำการเบิกจากบัญชีกระแสรายวัน เช่น จ่ายเช็คบัญชีกระแสรายวันซื้อสินค้าหากเงินในบัญชีไม่พอก็จะใช้วงเงิน O/D อัตโนมัติ การคิดดอกเบี้ยจะคิดตามที่ใช้จริงในแต่ละวันค่ะ หากวันไหนไม่ใช้ก็ไม่เสียดอกเบี้ย และเมื่อมีลูกค้าโอนเงินหรือเราฝากเงินสดเข้าในบัญชีกระแสรายวันที่มีวงเงิน O/D ก็จะช่วยให้นั้นเสียดอกเบี้ยน้อยลง วงเงิน O/D จึงเหมาะกับกิจการที่มีการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ร้านขายของกินของใช้ ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ฯลฯ  โดยทุกวันสิ้นเดือนธนาคารจะมีการสรุปดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งคิดแบบทบต้น นั่นหมายความว่าหากไม่ชำระดอกเบี้ยในวันสิ้นเดือน ดอกเบี้ยจะถูกนำไปทบกับเงินต้นเพื่อนำไปคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไป 
          • ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เป็นหลักฐานการขอใช้เงินกับธนาคารค่ะ โดยเมื่อครบกำหนดก็จะชำระเงินต้นคืนให้กับธนาคารตามจำนวนเงินหน้าตั๋ว จึงเหมาะกับกิจการที่ต้องรอระยะเวลาการรับเงินยาวนาน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง กว่าจะเบิกเงินงวดแรกได้ต้องรอไปอีก 3 เดือน หรือธุรกิจที่มีการขายแบบฤดูกาล เช่น ธุรกิจขายเครื่องแบบนักเรียนที่ต้องซื้อสินค้ามาสต็อกไว้แต่จะขายดีในช่วงเปิดเทอม การคิดดอกเบี้ยจ่ายมีวิธีคิดอยู่ด้วยกัน 3 แบบค่ะ ได้แก่ หักชำระดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า ชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน และชำระครั้งเดียวเมื่อครบกำหนด

สินเชื่อใช้ขยายกิจการ
          เมื่อกิจการเติบโตผู้ประกอบการก็อยากที่จะขยับขยาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิต  หรือขยายสาขาแห่งใหม่ ทำให้กิจการจำเป็นต้องใช้เงินก้อนโตด้วยการกู้ยืมกับธนาคาร โดยสินเชื่อที่สามารถขอกับธนาคารมีดังนี้
          • เงินกู้ (LOAN)  เมื่อขอสินเชื่อเป็นแบบเงินกู้ จะได้รับเป็นเงินก้อนจากธนาคาร โดยมีลักษณะการรับเงินได้แก่ 
          - เงินกู้รับเป็นเงินก้อนครั้งเดียว เช่น เพื่อซื้อโรงงาน เพื่อซื้อเครื่องจักร เราจะได้รับเงินก้อนจากธนาคารเพื่อนำไปจ่ายค่าซื้อโรงงานหรือเครื่องจักร 
          - เงินกู้รับเป็นงวดๆ   เช่น เงินกู้เพื่อก่อสร้างอาคารโรงาน ธนาคารจะทยอยให้เงินกับเราตามสัญญาเบิกงวดงาน ตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง เช่น งวดที่ 1 เบิก 500,000 บาท เมื่อวางผัง ตอกเสาเข็ม เรียบร้อย งวดที่ 2 เบิก 1​00,000.00 บาท เมื่อตั้งเสา เทพื้น เสร็จเรียบร้อย เป็นต้น
          การชำระหนี้เงินกู้จะทยอยผ่อนชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับธนาคารเป็นรายเดือน ระยะเวลาประมาณ 5-7 ปี ซึ่งธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจ่ายแบบลดต้นลดดอกค่ะ
​          • L/C LOAN ในกรณีที่เราต้องการสั่งซื้อเครื่องจักรมาจากต่างประเทศ สามารถเปิด L/C ผ่านธนาคารได้ค่ะ โดยธนาคารจะชำระเงินให้กับผู้ขายเครื่องจักร เมื่อผู้ขายทำตามข้อตกลงและเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ใน L/C เช่น จัดส่งสินค้าและจัดทำเอกสารได้ถูกต้องครบถ้วน หลังจากได้รับเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อสามารถนำเครื่องจักรใช้เป็นหลักประกันในการยื่นกู้ เพื่อนำเงินไปชำระตาม L/C ให้กับธนาคารที่จ่ายเงินให้กับผู้ขายไปก่อน หลังจากนั้นผู้ซื้อหรือผู้กู้ก็ค่อยผ่อนชำระค่าซื้อเครื่องจักรเป็นงวด ๆ กับธนาคารแทน

           หากผู้ประกอบการมีแผนที่จะขอสินเชื่อธุรกิจแล้วล่ะก็ อย่าลืมนึกถึงจุดประสงค์ของการขอสินเชื่อ จะได้ตัดสินใจเลือกใช้สินเชื่อได้อย่างเหมาะสม เท่านี้ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการยื่นกู้ให้ผ่านฉลุยแล้วค่ะ  หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com


ให้คะแนนบทความ

นารีรัตน์ กำเลิศทอง AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย