08 ม.ค. 62

เลือกดอก(เบี้ย)แบบไหนไฉไลกว่า เมื่อแปลงรถเป็นเงิน

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อ/ธุรกิจ

​​​​​​​​เลือกดอก(เบี้ย)แบบไหนไฉไลกว่า เมื่อแปลงรถเป็นเงิน​​​​​​​​ 


        สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินก้อนในยามจำเป็น แต่เงินที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ การนำ "รถยนต์ที่เราผ่อนหมดแล้ว"​​ มาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้มีเงินก้อน โดยเรายังสามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ได้ตามปกติ ซึ่งในปัจจุบันการคิดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อประเภทนี้มีให้เลือกทั้งแบบคงที่และแบบลดต้นลดดอก แล้วเราจะเลือกดอกเบี้ยแบบไหนที่เหมาะและคุ้มค่า K-Expert มีคำแนะนำมาฝากกัน

 

1)  ค่างวดประกอบด้วยอะไรบ้าง

          โดยปกติแล้วหากเรากู้ซื้อรถยนต์ใหม่ ค่างวดที่ต้องชำระในแต่ละเดือนจะประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย แต่สำหรับเงินกู้ที่เกิดจากการนำรถยนต์ปลอดภาระมาเป็นหลักประกันนั้น นอกจากเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว เรายังต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) อีก 7% ด้วย ตัวอย่างเช่น กู้เงิน 200,000 บาท ผ่อน 60 งวด อัตราดอกเบี้ยงคงที่ 3.85% ต่อปี ค่าผ่อนต่อเดือน 4,253 บาท


          ซึ่งในค่าผ่อน 4,253 บาท เงินผ่อนจริงจะอยู่ที่ประมาณ 3,975 บาท และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 278 บาท  


          ดังนั้น หากนำค่างวดมารวมกันตลอดอายุสัญญาหรือระยะเวลาการกู้แล้ว จำนวนเงินที่เราต้องจ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 255,180 บาท (4,253X60) ซึ่งหลักๆ จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ

          - เงินต้นหรือจำนวนเงินที่เรากู้อยู่ที่ 200,000 บาท    

          - ดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาอยู่ที่ประมาณ 38,500 บาท

          - ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของเงินต้น และดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 16,680 บาท


          จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า การกู้เงินประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อนตัดสินใจกู้เงินจึงควรมั่นใจว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ

 

2)  ดอกเบี้ยคงที่กับลดต้นลดดอกแบบไหนแพงกว่ากัน

          หากจะเปรียบเทียบว่าดอกเบี้ยแบบคงที่กับแบบลดต้นลดดอก แบบไหนแพงกว่ากันนั้น เราจะดูแค่ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ค่ะ เนื่องจากทั้งสองแบบมีวิธีการคำนวณดอกเบี้ยที่ไม่เหมือนกัน  

          - หากอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจะถูกกว่าเพราะดอกเบี้ยในแต่ละเดือนคำนวณจากเงินกู้คงเหลือที่ลดลงจากการจ่ายค่างวด ซึ่งจะถูกนำไปชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือค่อยนำไปชำระเงินกู้ เงินกู้คงเหลือก็จะถูกนำไปคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไป จึงทำให้ดอกเบี้ยที่คำนวณได้ในเดือนถัดไปลดลงนั่นเอง ต่างจากแบบคงที่ที่ดอกเบี้ยในแต่ละเดือนคำนวณจากเงินกู้เต็มจำนวน โดยดอกเบี้ยที่คำนวณได้จะถูกนำมาหารจำนวนงวด เป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เท่าๆ กันทุกเดือน
โดยจากตัวอย่างเดิม หากดอกเบี้ยในเดือนแรกอยู่ที่ 641 บาท การคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ดอกเบี้ยจะเท่ากันทุกๆ เดือนที่ 641 บาท แต่หากเป็นแบบลดต้นลดดอก ดอกเบี้ยเดือนแรกจะอยู่ที่ 641 บาท และลดลงเรื่อยๆ ในเดือนถัดไปตามเงินต้นที่ลดลง
 

          - ​หากอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน เราสามารถแปลงอัตราดอกเบี้ยคงที่ให้เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเพื่อเปรียบเทียบได้แบบคร่าวๆ ด้วยการนำอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก คูณด้วย 1.8 หรือสามารถ เปรียบเทียบเป็นจำนวนเงิน ง่ายๆ โดย
 
(ค่างวด X จำนวนงวด) วงเงินกู้ = ดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่ม
 
ซึ่งจากตัวอย่างเดิม
แบบคงที่ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.85% ต่อปี ค่าผ่อนเดือนละ 4,253 บาท
ดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ = (4,253X60)-200,000 = 55,180 บาท  
 
แบบลดต้นลดดอก สมมติว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7.42% ต่อปี ค่าผ่อนต่อเดือนอยู่ที่ 4,280 บาท
ดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก = (4,280X60)-200,000 = 56,800 บาท
 
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินดอกเบี้ยแบบคงที่และแบบลดต้นลดดอกใกล้เคียงกัน ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยต่างกันถึงเกือบ 2 เท่า (3.85% ต่อ 7.42%)
 
การคำนวณด้วยวิธีนี้จะทำให้เราทราบถึงจำนวนดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดที่ต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาหรือระยะเวลาการกู้ค่ะ
 

3)  เลือกอย่างไรให้เหมาะ

          นอกจากการเลือกดอกเบี้ยด้วยการเปรียบเทียบว่าแบบไหนถูกหรือแพงกว่ากันแล้ว เราควรดูความตั้งใจในการผ่อนด้วยค่ะ


          - หาก "ใช้เงินไม่นาน ไม่กี่เดือนก็จะมีเงินมาปิด หรือมีเงินมาโปะได้เรื่อยๆ" เลือกแบบลดต้นลดดอกจะช่วยให้หนี้หมดเร็วขึ้น หรือหากมีเงินมาปิดเงินกู้ทั้งหมดได้ ก็จะช่วย "ประหยัดดอกเบี้ย" ในส่วนที่เหลือทั้งหมด เหมือนกับการปิดหนี้เงินกู้บ้านค่ะ แต่ในส่วนของ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ที่ถูกคิดตั้งแต่ตอนแรกนั้น ถึงแม้จะมีการปิดหนี้ก่อนก็ยังต้องจ่ายจนครบ โดยจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของค่างวดที่เหลือตลอดอายุสัญญาเงินกู้ ดังนั้น หากมีแผนจะปิดหนี้ก่อนควรเลือกจำนวนงวดผ่อนสั้นๆ ค่ะ

          - หากตั้งใจว่า “จะผ่อนไปเรื่อยๆ ไม่รีบปิด" ให้เปรียบเทียบที่ดอกเบี้ยจ่ายว่าแบบไหนถูกกว่ากัน อย่างไรก็ตามหากเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ เพราะเปรียบเทียบแล้วอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า ถ้าในอนาคตเกิดเปลี่ยนใจอยากปิดหนี้ก่อนกำหนดจะไม่ได้ช่วยประหยัดดอกเบี้ยสักเท่าไร เนื่องจากจะได้รับส่วนลด 50% ของดอกเบี้ยที่คงเหลือในระบบ (ซึ่งต่างจากแบบลดต้นลดดอกที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ) และยังคงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับแบบลดต้นลดดอก


          สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะเลือกดอกเบี้ยแบบคงที่หรือแบบลดต้นลดดอกก็ตาม ควรสอบถามเงื่อนไขการชำระและการปิดหนี้ก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือความเข้าใจผิดในภายหลัง เช่น อาจมีข้อกำหนดว่า ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจะปิดหนี้ได้เมื่อผ่อนไปแล้ว 6 งวด เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทไฟแนนซ์ ซึ่งสามารถสอบถามจากพนักงานหรือดูจากเว็บไซต์เพิ่มเติม เช่น สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย เป็นต้นค่ะ


บทความที่เกี่ยวข้อง:  

Tool:  
- เปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินกู้ ​​



ให้คะแนนบทความ

นารีรัตน์ กำเลิศทอง AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย