31 ส.ค. 61

ข้อคิดจากวิกฤตค่าเงินเวเนซุเอลา กับไก่ราคาตัวละ 14 ล้าน

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​​ข้อคิดจากวิกฤตค่าเงินเวเนซุเอลา กับไก่ราคาตัวละ 14 ล้าน


​​​​​​​         คุณเชื่อหรือไม่ว่าครั้งหนึ่งประเทศเวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลกซึ่งสูงถึง 300,000 ล้านบาร์เรล (จากข้อมูลของโอเปคในปี 2015) จากเศรษฐีที่เคยกินดีอยู่ดี ต้องกลายมาเป็นประเทศที่ยากจน ผู้คนอดอยากหิวโหย ขาดแคลนทั้งอาหารและยา ซึ่งจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) มีชาวเวเนซุเอลาอพยพออกนอกประเทศกว่า 2.3 ล้านคน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกวัน ​


 

          สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตค่าเงินเวเนซุเอลา คือ ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการผลิตสินค้าและบริการ โดยพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว จากเดิมที่เคยเป็นผู้ส่งออกกาแฟและโกโก้  รัฐ​บาลใช้นโยบายประชานิยม ยกเลิกกิจกรรมภาคเกษตรกรรม ควบคุมราคาสินค้าและบริการให้มีราคาที่ต่ำเพื่อเอาใจประชาชน จนผู้ผลิตรายย่อยขาดทุนและต้องปิดกิจการไป และเน้นการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ อาหารและยา เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงมาก ส่งผลให้ประเทศมีรายได้ที่ลดลง จึงทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินจากประเทศจีนและรัสเซียกว่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2014 เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้พิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆ เพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้ค่าของเงิน Bolivar ลดลงอย่างมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ซึ่งภาวะนี้จะเกิดจากการที่ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หากต้องการซื้อไก่ 1 ตัว น้ำหนัก 2.4 กก. ราคาจะอยู่ที่ 14,600,000 Bolivars หรือเท่ากับ 73 บาท


 


 

ที่มา : https://www.theguardian.com/world/2018/aug/20/venezuela-bolivars-hyperinf

lation-banknotes​


 


 


 

          ​จากตารางข้อมูลสถิติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเห็นว่าเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาสูงมากตั้งแต่ในปี 2008 อยู่ที่ 31% และเริ่มสูงพุ่งพรวดมาตั้งแต่ปี 2015 อยู่ที่ 112% จนกระทั่งในปีนี้เป็น 13,864% โดย IMF ยังคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะอยู่ที่ 1,000,000% หมายความว่า เงิน 1,000,000 Bolivars อาจจะมีค่าลดลงเหลือเพียงแค่ 1 Bolivar เท่านั้น


 

          ในปัจจุบันรัฐบาลของนายนิโกลัส มาดูโร ได้เริ่มใช้ธนบัตรสกุล Sovereign Bolivar แบบใหม่ โดยอ้างอิงกับเหรียญ Petro ซึ่งจะเป็นการตัดเลข 0 ไป 5 ตัวออกจากธนบัตรเดิม เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องพกเงินเป็นกระสอบแบบที่ผ่านมา โดยที่ธนบัตร 100,000 Bolivars ใบเดิม จะแลกได้ 1 Sovereign Bolivar ฉบับใหม่ จากไก่ที่เคยตัวละ 14,600,000 Bolivars ก็จะกลายเป็นตัวละ 146 Sovereign Bolivars เท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหาในขณะนี้ของรัฐบาลเวเนซุเอลา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะช่วยชะลอความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงได้


 

 

200,000 Bolivar-bills = 2 Sovereign Bolivar –note (Photo by AFP)​


 

          คราวนี้ลองย้อนมาดูเงินเฟ้อทั่วโลกและเงินเฟ้อในประเทศไทยบ้าง อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกและไทยมักจะเป็นตัวเลขหลักเดียว ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างปกติ สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ และเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเหมือนของเวเนซุเอลา รากฐานของเศรษฐกิจไทย เราเน้นเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในภาคเกษตรกรรม ส่วนภาคการผลิต ราคาสินค้าและบริการก็เป็นไปตามกลไกราคาตลาด หากเราคนไทยดำรงชีวิตโดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและซื่อสัตย์สุจริต เศรษฐกิจไทยจะไม่เป็นเหมือนอย่างประเทศเวเนซุเอลาอย่างแน่นอน 


 

          ถึงแม้ว่าเราจะโชคดีได้อยู่ในประเทศที่มีเงินเฟ้อในอัตราที่ไม่สูงเท่ากับเวเนซุเอลา แต่เราก็ควรจะเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราควรจะวางแผนการเงินของเราโดยลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อ หากเราคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 3% ต่อปี จะเห็นว่าทุกๆ 24 ปี ของราคา 100 บาท จะเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัว  


 

          ถ้าวันนี้เราอายุ 31 ปี และต้องการเกษียณตอนอายุ 55 ปี ปัจจุบันเราจ่ายค่าอาหารเดือนละ 15,000 บาท หากเวลาผ่านไป 24 ปี เมื่อเราอายุ 55 ปี เราจะต้องใช้เงิน 30,000 บาท เพื่อซื้ออาหารในปริมาณที่เท่าเดิม ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาบุตรและค่ารักษาพยาบาล หากเราต้องการประมาณเงินเฟ้อ แนะนำให้คิดเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี ดังนั้น ถ้าเราออมเงินไว้ในเงินฝากออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่เราจะได้รับคือ 0.50% ต่อปี ก็ยังถือว่าน้อยกว่าเงินเฟ้ออยู่ดี 


 

          หากเราต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ นักลงทุนอาจจะพิจารณาถึงทางเลือกในการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยกระจายเงินลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ เช่น เงินฝากประจำ สลากออมสิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น หุ้นรายตัว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ เป็นต้น 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 
Workshop ที่เกี่ยวข้อง​ :
 - เสริมแกร่งมือใหม่ หัดลงทุนกองทุนรวม 
​ - จัดพอร์ตลงทุนง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง


 


 

ให้คะแนนบทความ