คู่มือวางแผนเกษียณฉบับมนุษย์เงินเดือน เริ่มเก็บเงินเกษียณวันนี้มีเหลือใช้ไร้กังวล

มนุษย์เงินเดือน มีรายได้เท่าๆกันทุกเดือน ค่าใช้จ่ายปัจจุบัน กับการออมเพื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน แล้วจะบริหารเงินจากรายได้ที่จำกัดอย่างไรเพื่อพิชิตแผนเกษียณ กับคู่มือวางแผนเกษียณฉบับมนุษย์เงินเดือน

• เครื่องมือในการออมเพื่อการเกษียณ มีหลากหลายประเภท ขอให้เลือกออมตามสิทธิของสมาชิก และกำลังในการออม เช่น ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF และประกันแบบบำนาญ ยังมีกองทุนลดหย่อนภาษีและประกันชีวิตอีกด้วย


• เทคนิคการออมเกษียณอายุให้ไว้ 1.ออมก่อน รวยกว่า 2.หากมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี ให้ใช้ทั้งกองทุนและประกันเพื่อลดหย่อนภาษี รวมถึงการออมรายเดือน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แนะนำให้เลือกออมผลิตภัณฑ์อื่นได้


• เช็กเงื่อนไขกองทุน/ประกันชีวิตที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี ก่อนการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้สิทธิในการขายเหมาะสมกับการใช้เงินหลังเกษียณ




แผนเกษียณอายุ ถือเป็นหนึ่งในแผนการเงินที่ทุกคนต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีรายได้ประจำ หรือ มนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้จำกัด มีความจำเป็นต้องวางแผนเกษียณอายุอย่างยิ่ง เนื่องจาก 1)คนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น 2)ค่ารักษาพยาบาล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้เกษียณต้องเตรียมเงินทำให้ต้องเตรียมเงินเกษียณเพิ่มขึ้น หากต้องการคุณภาพในการรักษา 3)โครงสร้างประชากรของไทยจะมีวัยทำงานน้อยลง จะเห็นได้จาก อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย ทำให้รัฐสวัสดิการ อาจจะไม่ใช่แหล่งพึ่งพิงของผู้เกษียณอายุได้ในอนาคต และ 4)คนไทย ที่มีครอบครัว มีบุตรลดลง ทำให้ผู้เกษียณอายุจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น จากปัจจัยทั้งหมด ทำให้แผนเกษียณอายุมีความจำเป็นมากขึ้น และมนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องเตรียมตัว แล้วมนุษย์เงินเดือนจะต้องเตรียมตัวอย่างไร จะเลือกออมแบบไหนดี แล้วเตรียมตัวให้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง สรุปให้แบบเป็นคู่มือเบื้องต้น ดังนี้
retirement-plan.jpg



เครื่องมือการออมเพื่อเก็บเงินเกษียณภาคบังคับที่ต้องมี

1.ประกันสังคม เป็นเครื่องมือการออมภาคบังคับเพื่อการเกษียณ สำหรับลูกจ้างเอกชนทั่วไป ซึ่งจะกำหนดลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับเงินเดือน ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 5% ของเงินเดือน (สูงสุด 15,000 บาท) หรือ 750 บาทต่อเดือน สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกประกันสังคม เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต เงินบำเหน็จ/บำนาญชราภาพ เงินชดเชยจากการว่างงาน ขึ้นอยู่กับประเภทสมาชิกประกันสังคมด้วย ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่จะเกี่ยวข้องในแผนเกษียณอายุ หากมองประกันสังคม เป็นสิทธิประโยชน์ในบำนาญชราภาพ คือ การสมทบเงินเข้าประกันสังคม เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 180 เดือน ขึ้นไป จะได้รับบำนาญในสัดส่วนร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ส่วนใหญ่เงินเดือนฐาน คือ 15,000 บาท) แปลว่า ส่งมา 15 ปี (180 เดือน) จะมีสิทธิได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท เป็นขั้นต่ำ


2.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นเครื่องมือการออมภาคบังคับเพื่อการเกษียณ สำหรับข้าราชการ พนักงานของรัฐ ที่จะกำหนดการออมเงินขั้นต่ำ ร้อยละ 3 ของอัตราเงินเดือน และออมเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของอัตราเงินเดือน โดยมีนายจ้างร่วมสมทบให้ร้อยละ 3 ของอัตราเงินเดือนด้วย และนำเงินไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนกองทุนนั้นๆ และเมื่อครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิที่จะขายหน่วยลงทุนทั้งหมด หรือ ทยอยรับเป็นรายงวด หรือ คงเงินไว้ในกองทุนฯ ก็ได้ ถือเป็น 3 วิธีการในการรับเงินหลังจากเกษียณแล้ว ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และนำเงินก้อนนี้มาเป็นแหล่งเงินใช้ยามเกษียณอายุ



เครื่องมือการออมเพื่อเก็บเงินเกษียณภาคสมัครใจที่ต้องมีเพิ่ม

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือการออมแบบสมัครใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จะกำหนดให้ลูกจ้างออมเงิน ร้อยละ 2-15 ของอัตราเงินเดือน โดยนายจ้างสมทบระหว่าง ร้อยละ 2-15 ของอัตราเงินเดือนด้วยเช่น ซึ่งจะมีนโยบายลงทุนที่แตกต่างกัน และสามารถวางแผนการนำเงินออกมาใช้หลังเกษียณ เช่น รับเงินก้อนทั้งหมด รับเป็นรายงวด หรือ คงเงินไว้ก่อน เป็นต้น


2.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือภาคสมัครใจอีกรูปแบบ ที่มีการจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนที่ซื้อ และเงินค่าขาย หากมีกำไร และถือครบตามเงื่อนไข จะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ 2 ต่อ ไม่ว่าจะเป็นเงิน และได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย เน้นลงทุนสม่ำเสมอ (จะผิดเงื่อนไขทางภาษีเมื่อหยุดลงทุนเกินกว่า 1 ปี) ซื้อสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ กบข.) กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) และประกันแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3.ประกันแบบบำนาญ เป็นการชำระเบี้ยไปจนอายุ 55 -60 ปี หรือตามแบบกรมธรรม์ แล้วหลังจากอายุ 55-60 ปี จะเริ่มจ่ายเงินคืนเป็นรายงวดงวดละเท่าๆกัน เพื่อเป็นบำนาญรายปี จะช่วยให้การันตีว่าจะมีเงินได้จากกรมธรรม์มาใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ เบี้ยประกันบำนาญที่ใช้สิทธิทางภาษีได้สูงสุด ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท



เครื่องมือการออมเพื่อเก็บเงินเกษียณภาคสมัครใจอื่นๆที่ควรมีเพิ่ม

1.กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ และ/หรือหุ้นไทย ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่มีแนวคิดส่งเสริมความยั่งยืนโดยตรงอย่าง ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งสามารถนำเงินค่าซื้อมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องถือลงทุน 8 ปีขึ้นไป (นับวันชนวัน)


2.กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) เป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาว มีนโยบายลงทุนหลากหลาย (ไม่ใช่เน้นหุ้นไทย เหมือน LTF) สามารถนำเงินค่าซื้อมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ กบข.) กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


3.ประกันชีวิต เป็นได้ทั้งประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันแบบตลอดชีพ ที่มีระยะความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท



คำถามยอดฮิตเรื่องแผนเกษียณอายุ
faq-retirement-plans.jpg


ควรออมเงินเท่าไหร่จึงจะเกษียณได้สบาย

สมมติว่า เริ่มต้นออมเงินเมื่ออายุ 35 ปี ต้องการเกษียณอายุ 60 ปี และมีสมมติฐานว่าอยู่ใช้เงินจนอายุ 85 ปี หากอยากใช้เงินเดือนละ 12,000 บาท แปลว่า เราควรออมเดือนละ 12,000 บาทด้วยเช่นกัน (ยังไม่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ) ระยะเวลาออมเงิน และระยะเวลาใช้เงินเท่ากัน คือ 25 ปี หากคิดแบบจริงจัง วันนี้อายุ 35 ปี ต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 12,000 บาท อีก 25 ปี ด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3% จะกลายเป็นเดือนละ 25,080 บาท และใช้เงินอีก 25 ปี (สมมติฐาน ลงทุนหลังเกษียณให้เท่ากับอัตราเงินเฟ้อ) จะต้องเตรียมเงิน 7,524,000 บาท หากเก็บเงินก้อนนี้ได้ ออมเงินเดือนละ 16,900 บาท (ผลตอบแทนคาดหวัง 3% ต่อปี) / 12,658 บาท (ผลตอบแทนคาดหวัง 5% ต่อปี) / 9,305 บาท(ผลตอบแทนคาดหวัง 7% ต่อปี) จะออมได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า มีรายได้เท่าไหร่ หากมีรายได้เดือนละ 100,000 บาทก็มีโอกาสออมได้สำเร็จ แต่หากมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท อาจจะฝืดเคืองในการออมเช่นกัน ดังนั้น นอกจากคำถามว่า จะออมเท่าไหร่ถึงจะเกษียณได้ ยังต้องพิจารณาถึงความสามารถในการออมควบคู่ไปด้วย


ควรเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณเมื่อไหร่

ควรให้เร็วที่สุดที่ทำได้ หากดูจากสมการของมูลค่าเงินในอนาคต จะพบว่า เงินต้น*(1+ผลตอบแทน)^ระยะเวลาออม ปัจจัยที่จะช่วยให้มูลค่าเงินลงทุนในอนาคตสูง และมีความเป็นไปได้สูง นั่นคือ ระยะเวลาในการออม ไม่ใช่ จำนวนเงินต้น หรืออัตราผลตอบแทนที่เหล่านักลงทุนทั่วไปค้นหา


จะเลือกออมเพื่อเกษียณอายุอย่างไร

1.เริ่มออมจากเครื่องมือการออมเพื่อเกษียณภาคบังคับที่มีอยู่ให้เต็มความสามารถในการออมก่อน เช่น ลูกจ้างบริษัทเอกชน สมทบเงินประกันสังคมให้เต็มสิทธิ สูงสุดเดือนละ 750 บาท


2.ถ้ายังมีความสามารถในการออมอยู่และใช้เครื่องมือการออมเพื่อเกษียณภาคบังคับเต็มสิทธิแล้ว ค่อยมาเริ่มออมแบบเครื่องมือการออมเพื่อเกษียณภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ออมในส่วนของลูกจ้างเต็มสิทธิ ที่ 15% ของเงินเดือน


3.ถ้ายังมีความสามารถในการออมอยู่และใช้เครื่องมือการออมเพื่อเกษียณเต็มสิทธิแล้ว ค่อยขยับไปยังเครื่องมือการออมภาคสมัครใจอื่นๆ เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีเงินได้ต้องเสียภาษี (เงินเดือนตั้งแต่ 26,000 บาทขึ้นไป) หากเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี (เงินเดือนไม่เกิน 26,000 บาท) แนะนำให้ลงทุนในเครื่องมือการออมอื่นๆ เช่น เงินฝาก กองทุน ตามระดับความเสี่ยงของตนเองด้วย


สรุปสิ่งที่แนะนำ คือ การออมเพื่อเกษียณ ควรเริ่มทำตั้งแต่มีรายได้ประจำ ผ่านเครื่องมือภาคบังคับต่างๆ เพื่อให้เริ่มเก็บออมให้เร็วที่สุด เนื่องจากการเริ่มต้นเร็วจะช่วยให้โอกาสออมถึงเป้าหมายมีมากขึ้น และหากสามารถออมได้เพิ่มขึ้น ค่อยทยอยไปออมในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงกองทุน/ประกันชีวิตที่มีสิทธิลดหย่อนภาษีได้



ทำไมออมก่อนจึงรวยกว่า

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนจะคิดว่าใกล้ๆเกษียณแล้วค่อยเริ่มออมก็ได้ ขอยกตัวอย่างฝาแฝด 2 คน อย่างพ่อเรือง กับพ่อริด อายุ 25 ปีเท่ากัน พ่อริด เริ่มออมตั้งแต่เข้าทำงานในวัย 25 ปี จนถึงอายุ 35 ปี เดือนละ 10,000 บาท (ออมทุกเดือนเป็นเวลา 120 เดือน หรือ 10 ปี เท่ากับ เงินต้น 120,000 บาท) ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี และหลังอายุ 35 ปี ก็ไม่นำเงินออกมาใช้ เมื่อครบอายุ 55 ปี พบว่า จะมีเงิน 4,212,250 บาท ในขณะที่ พ่อเรือง เข้าทำงานในวัย 25 ปีเท่ากัน แต่เริ่มออมตอนอายุ 35 ปี (ช้ากว่า 10 ปี) จึงออมเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 20,000 บาท ออมจนถึงอายุ 45 ปี (ออมทุกเดือนเป็นเวลา 120 เดือน หรือ 10 ปี เท่ากับ เงินต้น 240,000 บาท) ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปีเท่ากัน และไม่นำเงินออกมาใช้ จนอายุครบ 55 ปี พบว่า จะมีเงิน 3,105,650 บาท จะเห็นว่าการเริ่มต้นออมช้ากว่า ถึงแม้จะออมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ยังมีเงินก้อน ณ วันที่เกษียณน้อยกว่า ผู้ที่ออมก่อน


ตรวจสอบเงื่อนไขการลงทุนสำหรับกองทุน/ประกันที่ลดหย่อนภาษี

การออมเงินเพื่อเกษียณผ่านผลิตภัณฑ์ที่ลดหย่อนภาษีได้ ควรตรวจสอบเงื่อนไขเช่น สิทธิในการซื้อสูงสุด ไม่แนะนำให้ซื้อเกินสิทธิ เนื่องจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการซื้อเกินสิทธิ จะต้องเสียภาษี เงื่อนไขในการขาย เช่น RMF จะขายได้ก็ต่อเมื่อ อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี (นับวันชนวัน) หรือกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆ มีระยะเวลาลงทุนสอดคล้องกับอายุที่ต้องใช้เงินหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกษียณแล้วแต่ยังติดเงื่อนไขภาษี ขายออกไม่ได้ นอกจากเรื่องเงื่อนไขทางภาษีแล้ว ยังมีเทคนิคการออมรายเดือน นอกจากจะได้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังเป็นสร้างวินัยการออมได้อีกด้วย และในหลายๆปี การทยอยซื้อเป็นรายเดือนจะช่วยเรื่องกระแสเงินสด ยังช่วยเรื่องต้นทุนในการลงทุน ที่อาจจะไม่ได้ถูกที่สุด แต่ก็ไม่ติดยอดดอย ก็สามารถใช้บริการตัดบัญชีเงินฝากอัตโนมัติเพื่อซื้อกองทุนได้ และขอให้ระมัดระวังสำหรับกองทุนการออมระยะยาว (SSF) ที่ปี 2567 จะเป็นปีสุดท้าย ต้องรอดูมาตรการทางภาษีสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีอีกครั้ง


การออมเงินเพื่อเกษียณผ่านประกันแบบบำนาญ ควรตรวจสอบความสามารถในการออม (เน้นออมเท่ากัน ในระยะยาว) ส่วนประกันชีวิต เพื่อใช้สิทธิทางภาษีได้เต็มที่และไม่ผิดเงื่อนไข ควรถือกรมธรรม์อย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป (จ่ายเบี้ยครบแล้ว ก็ควรถือต่อให้ครบ 10 ปี)


คำเตือน : ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บลจ.กสิกรไทย