01 ก.ค. 62

3 ข้อควรรู้ก่อนเปลี่ยนรถเป็นเงินสด

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อ/ธุรกิจ

​​​​3 ข้อควรรู้ก่อนเปลี่ยนรถเป็นเงินสด​​​


          หากเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนและต้องการเงินในจำนวนที่สูงพอสมควร ในที่นี้คือหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนบาทขึ้นไป เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นของแต่ละคน เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าซ่อมแซมบ้านพักอาศัย เป็นต้น สำหรับทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีรถปลอดภาระคือ การกู้เงินโดยใช้รถยนต์เป็นหลักประกัน หรือธนาคารบางแห่งเรียกว่า “สินเชื่อรถช่วยได้” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสามารถตอบโจทย์ผู้กู้ทั้งในเรื่องของความเร็ว และจำนวนเงินที่ได้สูงพอสมควร


          สินเชื่อประเภทนี้ผู้กู้จะต้องมีรถปลอดภาระนำมาเป็นหลักประกัน โดยมีให้เลือกทั้งแบบโอนเล่มทะเบียนและแบบจำนำทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร และถ้าสนใจกู้ต้องทำอย่างไร วันนี้ K-Expert มี 3 ข้อควรรู้มาฝากกัน


1. สินเชื่อรถช่วยได้คืออะไร
สินเชื่อที่ใช้รถยนต์ปลอดภาระนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินกับธนาคาร เพื่อนำเงินไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือใช้จ่ายตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยที่ “ผู้กู้ยังคงสามารถใช้รถได้ตามปกติ” ซึ่งข้อดีของสินเชื่อรถช่วยได้ คือ
          • สะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3-7 วันทำการ (นับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน)
          • ได้รับวงเงินกู้สูง (สูงสุด 100% ของราคาประเมินรถยนต์)
          • ระยะเวลาผ่อนชำระนาน (สูงสุด 7 ปี)
          • อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อบุคคลทั่วไป แต่สูงกว่าสินเชื่อบ้านช่วยได้
          • เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการถูกกว่าสินเชื่อบ้านช่วยได้
          • มีการคิดดอกเบี้ยทั้งแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) และแบบคงที่ (Flat Rate)
          • มีทั้งแบบโอนเล่มทะเบียน กับ แบบจำนำทะเบียน

2. แบบโอนเล่มทะเบียนกับแบบจำนำทะเบียนคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร
  สำหรับสินเชื่อรถช่วยได้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) แบบโอนเล่มทะเบียน 2) แบบจำนำทะเบียน ซึ่งสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทนี้คืออะไร 
         1) แบบโอนเล่มทะเบียน คือการกู้เงินโดยต้องนำเล่มทะเบียนฉบับจริงไปโอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จากของผู้กู้เป็นของผู้ให้กู้แทน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งทางบก โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการโอนเล่มทะเบียน
  2) แบบจำนำทะเบียน คือการกู้เงินโดยการมอบเล่มทะเบียนฉบับจริง พร้อมทำเอกสารชุดโอนลอยให้กับผู้กู้เก็บรักษาไว้เป็นประกัน โดยไม่ต้องไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งทางบก ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการโอนเล่มทะเบียน

         สินเชื่อทั้ง 2 แบบ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันพอสมควร ดังนั้น K-Expert ขอสรุปรายละเอียดที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้สินเชื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้กู้ให้มากที่สุดดังนี้




3. ถ้าสนใจจะกู้เลือกแบบไหนดี และต้องเตรียมตัวอย่างไร
  จากตารางด้านบนผู้กู้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยหรือใช้เป็นเช็คลิสต์ในการเลือกแบบที่ต้องการกู้ได้       ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสัก 4 ข้อ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น 
          • ชื่อผู้ครอบครองรถเป็นใคร         >  บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล
          • ครอบครองรถมานานแค่ไหน >  เกิน 3 เดือน หรือเกิน 1 ปีหรือไม่
          • ต้องการวงเงินกู้จำนวนเท่าใด >  ต้องการ 100% หรือไม่เกิน 90%
          • ระยะเวลาที่ต้องใช้เงิน >  ต้องการด่วน (ไม่เกิน 3 วัน) หรือรอได้ (ไม่เกิน 7 วัน)
ซึ่งคำถามต่างๆ เหล่านี้จะถูกยกมาเป็นตัวช่วยในการหาคำตอบให้ว่า หากต้องการกู้สินเชื่อรถช่วยได้ควรเลือกแบบไหนดี และเมื่อรู้คำตอบแล้วว่าแบบที่ต้องการคือแบบใด ก็มาถึงคำถามสุดท้ายคือ หากสนใจกู้จะต้องเตรียมตัวอย่างไร สำหรับวิธีการเตรียมตัวยื่นกู้กับธนาคารไม่ได้มีขั้นตอนที่แตกต่างกันมากนัก โดยภาพรวมแล้วมีความใกล้เคียงกัน เช่น เอกสารที่ต้องใช้มี 3 ส่วนด้วยกันคือ 
  1. เอกสารส่วนตัว เพื่อแสดงความมีตัวตนและคุณสมบัติพื้นฐานของผู้กู้ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) เป็นต้น
  2. เอกสารรายได้ เพื่อแสดงที่มาและความมั่นคงของรายได้ ซึ่งแหล่งที่มาของรายได้สามารถแบ่งตามอาชีพได้เป็น 4 กลุ่มคือ ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจ อาชีพอิสระ (freelance) และกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ นักบิน ผู้พิพากษา เป็นต้น ดังนั้น รายได้จึงเป็นส่วนสำคัญที่นำมาใช้คำนวณความสามารถในการชำระหนี้ให้ธนาคาร สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย
  2.1 รายได้ประจำ ได้แก่ สลิปเงินเดือนล่าสุด หนังสือรับรองเงินเดือน และสเตทเม้นท์ย้อนหลัง 6 เดือน
  2.2 ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจ ได้แก่ หนังสือรับรอง ทะเบียนการค้า งบการเงินย้อนหลัง 3 ปี เอกสารแสดงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30) ปีล่าสุด และสเตทเม้นท์ย้อนหลัง 6 เดือน
  2.3 อาชีพอิสระ (freelance) ได้แก่ เอกสารหรือบัตรประจำตัวตามสาขาอาชีพ (ถ้ามี) 50 ทวิ ภงด. 90 สัญญาจ้าง และสเตทเม้นท์ย้อนหลัง 6 เดือน
  2.4 อาชีพพิเศษ หรือวิชาชีพเฉพาะ ได้แก่ เอกสารหรือบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพ สลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือน และสเตทเม้นท์ย้อนหลัง 6 เดือน
          3. เอกสารหลักประกัน ในที่นี้หมายถึงรถยนต์ที่จะนำมาใช้ค้ำประกัน เช่น สำเนาเล่มทะเบียนรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ชั้น 2 หรือ 2+ (ถ้ามี)

          เมื่อรวบรวมเอกสารได้ครบถ้วนทั้งฉบับจริงและสำเนาแล้ว ผู้กู้สามารถนำไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินต่างๆ ได้ ของธนาคารกสิกรไทยจะเรียกสินเชื่อนี้ว่า “สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย” ซึ่งสามารถยื่นกู้ได้ที่สาขาของธนาคารที่สะดวก หรือสามารถสมัครทางออนไลน์ก็ได้เช่นกัน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kasikornleasing.com/th/loan/Pages/auto-refinace.aspx

          สินเชื่อรถช่วยได้เป็นตัวช่วยที่ดีในยามที่ต้องการใช้เงินด่วน และต้องการได้วงเงินกู้ที่สูงพอสมควร แต่มีประเด็นที่ผู้กู้ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหนดีระหว่างแบบโอนเล่มทะเบียน หรือแบบจำนำทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 แบบมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้กู้ โดยอาจจะใช้คำถามในการเปรียบเทียบเพื่อเลือกว่าแบบไหนจะเหมาะกับผู้กู้มากที่สุด 

บทความที่เกี่ยวข้อง:


ให้คะแนนบทความ

พฤทธิ์ จำรัสพันธุ์ AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย